หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม กรมเจรจาฯ เดินหน้าเจรจาขยาย FTA หลังพบส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น

กรมเจรจาฯ เดินหน้าเจรจาขยาย FTA หลังพบส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น

1447
0

พาณิชย์ เผย ติดตามสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยไปประเทศ คู่เจรจาเอฟทีเอ พบขยายตัวเกือบทุกประเทศ พร้อมเดินหน้าเจรจาผลักดันเปิดตลาดสินค้าข้าวไทยเพิ่มเติม สร้างแต้มต่อข้าวไทยในตลาดโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยไปยังประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอของไทย 18 ประเทศ (อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และล่าสุดฮ่องกงที่จะมีผลใช้บังคับในเดือนมิถุนายน 2562) พบว่านับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอมีผลใช้บังคับ การส่งออกข้าวของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด เช่น อาเซียน เพิ่มขึ้น 144% ออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 155% นิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น 135% เปรูเพิ่มขึ้น 464% และชิลีเพิ่มขึ้น 200%

เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยกเลิกและทยอยลดการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าข้าวจากไทยแล้ว ยกเว้นจีนที่เพิ่งเริ่มลดภาษีสินค้าข้าวบางรายการให้ไทยเมื่อปี 2561 และในรายการสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวขัดสี รวมถึงข้าวหอมมะลิ ซึ่งจีนยังคงอัตราภาษีที่ 50% ในขณะที่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย จัดให้ข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหวและยังคงเก็บภาษีนำเข้าข้าวในอัตราที่สูง (เกาหลีใต้ ยังคงเก็บภาษีนำเข้าข้าวที่ 513% อินเดียเก็บภาษีนำเข้าข้าวที่ 70-80% และญี่ปุ่นยังใช้ระบบโควตาภาษี โดยการนำเข้าข้าวภายใต้โควต้า 682,000 ตันต่อปี จะไม่เสียภาษี แต่การนำเข้าข้าวนอกโควต้า ต้องเสียภาษีในอัตรา 341 เยนต่อกิโลกรัม)

จากสถิติปี 2561 ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย โดยไทยส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกในปริมาณกว่า 11,089 ล้านตัน เป็นมูลค่า 5,619.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.34 เมื่อเทียบกับปี 2560 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.02 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยมีตลาดส่งออกหลัก เช่น อาเซียน สัดส่วน ร้อยละ 20.12 เบนิน สัดส่วนร้อยละ 11.19 และจีน สัดส่วนร้อยละ 9.81 เป็นต้น ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศ รวม 1,870.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 33.29 ของการส่งออกสินค้าข้าวของไทย

“เอฟทีเอถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับข้าวไทยในตลาดโลก ซึ่ง กรมฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น เอฟทีเอที่ไทยทำกับอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน และความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) การเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น”