หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม พาณิชย์จับมือพลังงานลงนาม MOU ซื้อน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตไฟฟ้า1.6แสนตัน ด้านกฟผ.จะซื้อในราคานำตลาดที่กก.ละ 18 บาท

พาณิชย์จับมือพลังงานลงนาม MOU ซื้อน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตไฟฟ้า1.6แสนตัน ด้านกฟผ.จะซื้อในราคานำตลาดที่กก.ละ 18 บาท

1782
0

พาณิชย์จับมือพลังงาน ลงนาม MOU ซื้อน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตไฟฟ้า 1.6 แสนตัน ด้าน กฟผ.จะซื้อในราคานำตลาดที่กิโลกรัมละ 18 บาท เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง คาดผลิตได้ต้นเดือนมกราคม 62 นี้ ดันราคาผลปาล์มสดเป็น 3-3.20 บาทต่อกิโลกรัม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตกระแสไฟฟ้า ระหว่างนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน และนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่าการลงนามในครั้งนี้ กฟผ. จะซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 1.6 แสนตัน ในราคากิโลกรัม (กก.) ละ 18 บาท ส่งที่ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง ด้วยวิธีจัดซื้อจัดจ้างตามข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนดของ กฟผ. เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง

ส่วนกรมการค้าภายใน จะสนับสนุนการจัดหาน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีดำเนินมาตรการ รับสมัครผู้ประสงค์เสนอขายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. คัดเลือกและจัดสรรปริมาณขาย เพื่อให้ กฟผ. ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งมอบสำนักงานพาณิชย์จังหวัดและประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสนับสนุนความช่วยเหลือในระดับพื้นที่

“การร่วมมือกันในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่าง 2 กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงาน มีเป้าหมายเพื่อปรับสมดุลสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศ ให้อยู่ในระดับปกติ และมีเป้าหมายในการผลักดันให้ราคาผลปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรได้รับอยู่ในระดับสูงกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม”

ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กฟผ.จะเริ่มนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางประกง ได้ประมาณสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2562 เนื่องจากติดช่วงเทศกาลปีใหม่ และคาดว่าจะสามารถเดินหน้าผลิตไฟฟ้าได้ สำหรับปริมาณที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าประมาณเดือนละ 3 หมื่นตัน ใช้ประมาณ 5-6 เดือนหมด และตอนนั้น จะทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศในปัจจุบันมีอยู่ 4.5 แสนตัน กลับสู่สมดุลเหลือประมาณ 3 แสนตันได้

โดยเชื่อว่าจะผลักดันให้ราคาผลปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้นเป็น 3-3.20 บาทต่อกก. จากปัจจุบันที่ราคาแตะ 3 บาทต่อกก.แล้ว อีกทั้งกระทรวงพลังงานยังจะเร่งเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบ โดยผลักดันให้นำไปผลิตเป็นบี 20 เพื่อใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถโดยสารสาธารณะ ล่าสุดได้ทดลองใช้ในรถ ขสมก. แล้ว คาดว่าตั้งแต่เดือนมราคม 2562 เป็นต้นไป รถ ขสมก. กว่า 2,000 คัน จะเริ่มใช้บี 20 ซึ่งจะทำให้ดูดซับน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบได้อีกมาก

โดยเป้าหมาย กระทรวงพลังงานจะใช้น้ำมันปาล์มดิบทั้งหมดปีละ 1.8 ล้านตัน บริโภคในประเทศปีละ 9 แสนตัน รวมใช้ในประเทศ 2.7 ล้านตันต่อปี ทำให้ต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้อง โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณผลผลิต แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต