หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม กลยุทธ์ปรับตัวองค์กรเข้าสู่ยุค 4.0

กลยุทธ์ปรับตัวองค์กรเข้าสู่ยุค 4.0

2709
0

นโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดล ไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นการปรับตัวแบบก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่ภาครัฐต้องการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก จากการเป็นประเทศที่ใช้แรงงานและพึ่งพาอุตสาหกรรมการส่งออกเป็นหลัก ไปสู่ประเทศที่มีความโดดเด่นด้วยเศรษฐกิจที่ต่อยอดจากความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

วิวัฒนาการของโลกจากยุค 1.0 ถึง 4.0

ตั้งแต่ 1.0 2.0 มาจนถึง 4.0 ในปัจจุบัน โลกนับจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น โดยโลกของเราผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 หรือยุค 1.0  คือสมัยที่โลกค้นพบเครื่องจักรแรงดันไอน้ำและถือเป็นนวัตกรรมแห่งยุคที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และได้กลายเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมหนักในเวลาต่อมา

ครั้งที่ 2 หรือยุค 2.0 คือการค้นพบเครื่องจักรพลังงานไฟฟ้าและวิธีการผลิตแบบสายพาน คือหนึ่งคน ทำหนึ่งหน้าที่แล้วส่งต่อไปเรื่อย เทคนิคการผลิตแบบนี้ทำให้โลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมการผลิตเต็มตัวและเป็นที่มาของคำว่า Mass Production กลไกการตลาดจึงตกไปอยู่ในมือของผู้ที่ผลิตได้มากกว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า

ครั้งที่ 3 หรือยุค 3.0 คือยุคโลกที่มีคอมพิวเตอร์มาส่วนร่วมในการดำรงชีวิตมากขึ้น ทั้งในด้านการทำงาน การควบคุมการผลิต โดยเฉพาะการผลิตอุปกรณ์หรือแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อน มีการใช้หุ่นยนต์ผลิตของแทนมนุษย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไปอีกขึ้น

ก่อนที่โลกจะไปถึงยุค 4.0 มีการปฏิวัติครั้งใหญ่อีกครั้งซึ่งเรียกกันว่า ยุค 3.5 หรือยุคที่มีอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นนั่นเอง อินเตอร์เน็ตได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างมหาศาลในด้าน เช่น

  • ช่วยให้มนุษยชาติจากทุกมุมโลกเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร้ข้อจำกัด ช่วยลดระยะเวลาและอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ
  • ช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงโอกาสใหม่ ตลาดใหม่ได้ง่ายขึ้น
  • ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ครั้งที่ 4 หรือยุค 4.0 ที่เรากำลังได้ยินกันจนติดหูในปัจจุบัน คือยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในทุกๆช่วงเวลา ทุกภาคส่วน ทั้งในกระบวนการผลิตสินค้า การใช้ชีวิตประจำวัน  Keyword สำคัญของยุค 4.0 คือPersonalization หรือยุคสมัยที่เทคโนโลยีการผลิตสามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายโดยตรง พูดง่ายๆ ก็คือ โรงงานยุค 3.0 สามารถผลิตของที่ยากและซับซ้อนจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว แต่ผู้ผลิตยุค 4.0 จะสามารถผลิตของหลากหลายรูปแบบแตกต่างกัน (ตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละราย) โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร (Smart Factory) การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นจากการที่เทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตแบบเดิมเช่นอยากได้อะไรสามารถกดสั่งได้แค่ปลายนิ้วโดยไม่ต้องออกจากบ้านไปซื้อ ซึ่งรูปแบบการใช้ชีวิตแบบนี้เรียกว่า Smart Life

การปรับตัวองค์กรเข้าสู่ยุค 4.0

การปรับตัวสู่อนาคตเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าใจและปรับตัวเพื่อธุรกิจพร้อมเข้าแข่งขันในยุค 4.0 สิ่งที่ต้องเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนได้แก่

  1. ปรับตัวผู้นำ ผู้นำต้องเร่งศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมของตนเอง พร้อมกับปรับวิสัยทัศน์ขององค์กรให้สอดรับทิศทางของธุรกิจที่กำลังจะเดินหน้าไป อย่าฝืนหรือปฏิเสธเทคโนโลยี แต่จงทำความเข้าใจและหาทางนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์
  2. ปรับโครงสร้างองค์กรการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติงานขององค์กร งานบางอย่างจำเป็นต้องนำหุ่นยนต์หรือ AI มาแทนที่คนในขณะที่เร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เน้นการสร้างนวัตกรรม เน้นความคิดสร้างสรรค์และทำงานเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ
  3. ปรับระบบการจัดการใช้เทคโนโลยีเข้ามายกระดับการทำงานในทุกส่วนเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจและผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีมาพัฒนากลยุทธ์การขายให้เป็นแบบผสมผสานระหว่า Online กับ Offline หรือที่เรียกว่า Omni-Channel หรือการใช้ข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้ออย่างละเอียดเพื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงกับความต้องการมากขึ้นไปเรื่อยๆ

หัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0 ได้ ก็คือวิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ และการปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรยุค 4.0 นั้น เป็นเรื่องของการปรับแนวคิดและทัศนคติซึ่งเป็นธุรกิจเล็กหรือธุรกิจใหญ่ก็ทำได้เหมือนกัน