หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม การท่าเรืออัด 7.5 พันล้าน ย้ายชุมชนคลองเตย1.2หมื่นครัวเรือน เคลียร์พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์

การท่าเรืออัด 7.5 พันล้าน ย้ายชุมชนคลองเตย1.2หมื่นครัวเรือน เคลียร์พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์

2428
0

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อที่อยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) มีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นเจ้าของโครงการ

โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของชุมชนคลองเตยที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ของ กทท. ตั้งแต่ปี 2510 ตัวโครงการจะตั้งอยู่บนพื้นที่ขององค์การฟอกหนังเดิมทั้งสิ้น 58 ไร่ รูปแบบเป็นอาคารสูง 25 ชั้น จำนวน 4 อาคาร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวมทั้งหมด 6,144 ยูนิต มูลค่าก่อสร้างเบื้องต้นรวมประมาณ 7,500 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนของ กทท.เองทั้งหมด แบบห้องเป็นแบบ 1 ห้องนอน 33 ตารางเมตรทุกยูนิต

ภายในบริเวณนี้นอกจากมีที่อยู่อาศัยแล้วยังมีหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น สำนักงานเขตคลองเตย, สน.คลองเตย, โรงเรียน, มูลนิธิ รวมถึงจัดพื้นที่ค้าขายให้คนในชุมชนด้วย และในอนาคตมีแผนที่จะทำรถไฟโมโนเรลจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เชื่อมต่อเข้ามาในบริเวณนี้ด้วย

แต่ในเบื้องต้นจะนำทางรถไฟสายเก่าที่ขนน้ำมันดิบจาก จ.กำแพงเพชร มาทำเป็นรถไฟชุมชน เพื่อขนส่งประชาชนเข้ามาในบริเวณนี้ไปพลางก่อน โดยมอบหมายให้ ปตท.สผ.ในฐานะผู้ใช้รางเป็นผู้รับผิดชอบ

นายไพรินทร์กล่าวอีกว่า โครงการนี้จะเน้นไปที่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนคลองเตยเป็นหลัก เบื้องต้นพบว่ามีผู้อยู่อาศัยจำนวน 26 ชุมชน ที่อยู่ในพื้นที่ของ กทท. จำนวน 129 ไร่ และอีก 5 ชุมชนที่อาศัยอยู่ใต้ทางด่วน รวม 12,500 ครัวเรือน

โดยทาง กทท.มี 3 ตัวเลือกให้ชุมชนคลองเตย ได้แก่ 1.ย้ายมาอยู่อาศัยที่อาคารชุด ตั้งอยู่ซอยตรีมิตร ติดถนนริมทางรถไฟสายเก่า ด้านหลังติดริมคลองพระโขนง

2.ย้ายไปอยู่บนที่ดินที่ กทท.จัดหาให้ คือ ที่หนองจอก จำนวน 2,140 แปลง หรือ 214 ไร่ ซึ่ง กทท.ซื้อมาตั้งแต่ปี 2537 จำกัด 1 ครัวเรือนต่อที่ 1 แปลง แปลงละ 19.5 ตารางวา และ 3.มอบเงินทุนสำหรับกลับไปอาศัยที่ภูมิลำเนาเดิม เงินที่จะจ่ายมาจากงบของ กทท.เป็นหลัก แต่ยังไม่สรุปตัวเลขที่จะต้องใช้ เพราะต้องสำรวจความต้องการด้วย ส่วนรายละเอียดของแต่ละตัวเลือกยังอยู่ในระหว่างออกแบบ

ด้านเรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผอ.สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กทท. กล่าวว่า กระบวนการต่อไป กทท.จะต้องไปทำสำรวจสำมะโนประชากร เพื่อสำรวจจำนวนประชากรและสอบถามความต้องการของแต่ละครัวเรือน คาดว่าจะใช้เวลาสำรวจประมาณ 5 เดือน โดยจะทำการศึกษาออกแบบในรายละเอียด (Detail Design) และทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่กันไปด้วย และจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563

หลังจากนั้นจะทำการรื้อถอนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่อยู่กับ กทท. ทั้ง 129 ไร่ออก ใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี เนื่องจากมีหลายชุมชนอยู่หนาแน่น และจะนำพื้นที่ดังกล่าวไปพัฒนาตามแผนแม่บท (Master Plan) การพัฒนาพื้นที่ 2,353 ไร่ของ กทท. ต่อไป สำหรับ Master Plan ตอนนี้อยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาและจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อดูเรื่อง Master Plan เป็นหลัก

ขณะที่แหล่งข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การลงพื้นที่สำรวจสำมะโนประชากรชุมชนคลองเตย จำนวน 12,500 ครัวเรือน จะเริ่มในอีก 2 เดือนนี้ ขณะนี้กำลังเร่งทำ TOR ว่าจ้างผู้ทำการสำรวจให้เสร็จ เพื่อเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการต่อไป เบื้องต้น ม.สวนดุสิต (เดิมคือราชภัฎสวนดุสิต) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด แต่อย่างไรก็ตามจะต้องเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบก่อน