ก่อนหน้านี้เราอาจเคยได้ยินข่าวกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นบรรจุวิชาเขียนโปรแกรมลงในหลักสูตรสำหรับเด็ก ป.5 เพื่อสร้างคนพันธุ์ไอทีรุ่นต่อไปขึ้นมารองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังจ่อคอหอยราว 5.9 แสนตำแหน่งในปี 2030
สำหรับประเทศไทย แน่นอนว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานไอทีก็มีมากเช่นกัน ซึ่งหนทางแก้นั้น เบื้องต้นเราอาจสัมผัสได้จากโรงเรียนดังหลายแห่งที่เริ่มมีการใส่วิชา Coding เอาไว้ในหลักสูตรแล้ว แต่บทสรุปของปัญหานี้จะจบลงแค่การสอนเขียนโปรแกรมก็คงไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ขาดแคลนอย่างแท้จริงอาจเป็นเรื่องของการทำอย่างไรให้คนไทยสามารถคิดได้อย่างมีตรรกะ (Logical Thinking) และปัญหานี้ก็นำไปสู่จุดกำเนิดของ “Think Academy” โรงเรียนพันธุ์ใหม่ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งริเริ่มโดยคุณอภิชัย เรืองศิริปิยะกุล โปรแกรมเมอร์ และผู้พัฒนาคอนเทนต์Augmented Reality (AR) ชื่อดังที่ฝากผลงานไว้ในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงเป็นผู้พัฒนาแผ่นพับที่ระลึก AR ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย
โดยคุณอภิชัยเล่าถึงที่มาของการตั้ง Think Academy ว่า เกิดจากมุมมองที่ทางเอกชน รวมตัวกันปั้นจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาให้เป็น Smart City
“ต้องย้อนหลังกลับไปเมื่อสัก 4 – 5 ปีก่อน ตอนนั้นมีการสัมมนา และพูดคุยกันเกี่ยวกับการสร้างขอนแก่นให้เป็น Smart City ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นด้าน Infrastructure แต่จุดหนึ่งที่ผมคิดว่ายังไม่มีคนพูดถึงเลยคือ การพัฒนา Smart People ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการพัฒนาเมืองในอนาคต จึงคิดจะเริ่มสอนเด็ก ๆ ตั้งแต่ 6 – 7 ขวบ เพราะเขาคือกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนเมืองต่อไป”
รูปแบบการสอนคือการพัฒนาในส่วนของ Logical Thinking ให้เด็กรู้จักลองถูกลองผิดผ่านการเขียนโปรแกรม ซึ่งเราเชื่อว่า เมื่อเขามี Logical Thinking แล้ว แม้ไม่ทำงานสาขาอาชีพโปรแกรมเมอร์ แต่เขาก็สามารถนำทักษะนี้ไปแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ได้ในชีวิตได้เช่นกัน”
โดยการเรียนการสอนของ Think Academy ที่จะมีขึ้นในจังหวัดขอนแก่นนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือในกลุ่มเด็ก และกลุ่มผู้ใหญ่ โดยกลุ่มเด็กจะสอนช่วงเสาร์ – อาทิตย์ และเน้นในส่วนของ Logical Thinking ผ่านการลงมือทำ และเขียนโปรแกรมแบบง่าย หรือการสอนควบคุมโรบ็อตต่าง ๆ เช่น BB-8 เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ลองถูก ลองผิด
ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ คุณอภิชัยชี้ว่า ผู้เรียนมักเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์ โดยเฉพาะคน Gen Y และ Gen Z ที่มีไลฟ์สไตล์อีกแบบหนึ่ง คือไม่อยากเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ แต่อยากทำงานจากบ้าน ในจุดนี้จึงเปิดสอนทุกวันจันทร์ – ศุกร์ และรับผู้เรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาเป็นต้นไป โดยมีบางหลักสูตรที่เปิดสอนฟรี เพื่อปูพื้นฐานให้กับผู้เรียนด้วย เช่น ภาษา Python เพื่อปูพื้นฐานไปสู่การพัฒนาปัญญาประดิษธ์ (AI) เป็นต้น
“แต่สิ่งที่เหมือนกันใน 2 กลุ่มนี้ก็คือ เรามองว่าสิ่งที่เราสอน มันคือทักษะที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน เราเลยพัฒนารูปแบบหลักสูตรให้เรียน และฝึกปฏิบัติไปเรื่อย ๆ คล้ายกับการวาดภาพ หรือเล่นดนตรี ซึ่งจะมีการเพิ่มระดับความยากขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน”
แน่นอนว่าการสร้างคนระยะยาวนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย อะไรที่จะทำให้ Think Academy อยู่ได้อย่างยั่งยืน ในจุดนี้คุณอภิชัยเล่าว่า
“ก่อนอื่นต้องบอกว่า เราไม่ได้มองในแง่ของผลกำไรเป็นหลัก อย่างตัว Think Academy ก็สร้างอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับบริษัทเรา (บริษัท Think Technology) วัตถุประสงค์ที่เราทำเพราะเราต้องการสร้างคน และ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมาก และพบว่าบริษัทเหล่านั้น กำลังหาคน พอปีนี้เรามีกำลัง และมีเด็กมาฝึกงานกับเราอยู่แล้ว เราก็เอาน้อง ๆ เหล่านี้มาเทรน มาฝึก และต้องผ่านการทดสอบ (Lab Test) ของผมก่อนว่ามีความสามารถพอ เพื่อให้เขาสามารถเข้าทำงานกับบริษัทเหล่านั้นได้ ซึ่งรายได้หลักก็มาจากการทำงานของเรา แล้วแบ่งบางส่วนออกมาบริหารจัดการในการทำโรงเรียน และอีกส่วน มาจากการสนับสนุนของบริษัทพันธมิตรต่างๆ มันเลยเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ และทำให้เราสอนได้สนุกขึ้น คือมาเท่าไรก็สอนเท่านั้น”
แต่ทั้งหมดนี้เราพยายามสร้างเป็นโมเดลให้เห็นว่า กลุ่มคนในยุคหน้าเขาพร้อมจะเรียนรู้ด้วยตัวเองตั้งแต่เด็กแล้ว
“เขาก็จะสามารถประกอบอาชีพที่เขาสนใจได้จากการเรียนรู้ด้วยตัวเองเหล่านี้ ผมเลยมองว่าการพัฒนาให้คนมีทักษะด้านไอทีและทำงานได้ จะเป็นการช่วยอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์บ้านเราได้อีกทางหนึ่ง”
ออฟฟิศไฮเทค พื้นที่เตรียมเด็กสู่โลกดิจิทัล
ส่วนใครที่นึกภาพโรงเรียนสอน Coding ว่าต้องมีภาพของห้องสี่เหลี่ยม ๆ ทึบทึม และโต๊ะคอมพิวเตอร์เต็มไปหมดเหมือนโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ในเมืองใหญ่นั้น อาจต้องบอกว่าคิดผิด เพราะโรงเรียนแห่งนี้มีทั้งพื้นที่สีเขียว สไลเดอร์ สนามเด็กเล่น ร้านกาแฟ หรือแม้แต่พื้นที่ฮอลล์สำหรับนั่งทำงานร่วมกัน
โดยคุณอภิชัยเล่าว่าพื้นที่สีเขียวจำเป็นมากสำหรับงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือแม้แต่การฝึกฝีมือสเก็ตช์ภาพ ผู้เรียนก็ควรได้สัมผัสธรรมชาติจึงจะเกิดประโยชน์
“เด็ก ๆ ชอบมาเล่นที่ออฟฟิศผม เพราะเราชอบทำอะไรสนุก ๆ กัน เช่น เวลาไปดูหนัง เราก็ต้องคิดตามด้วยว่า ถ้าจะสร้างแบบเขาบ้างต้องใช้เทคโนโลยีอะไร เราเคยลองทำ AR บวก AI บวก IoT ทำเป็นจาร์วิสเล่นกัน ทำสมาร์ทโฮมเล่นกัน แล้ววิธีสร้างเหล่านี้ก็เกิดจากการคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน เราดูภาพยนตร์มา เราก็มาประดิษฐ์ล้อกับภาพยนตร์ได้”
“หรือเราทำสายรัดข้อมือให้สวนน้ำต่าง ๆ เราก็คิดว่าจะเอาเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นนี่แหล่ะมาใช้กับเด็กนักเรียนของเรา เช่น พอลูกเขาเดินเข้าโรงเรียนมา ก็มีข้อความส่งไปบอกพ่อแม่เขาว่าลูกมาถึงแล้วนะ เขาจะได้หมดห่วง หรือให้เขาเติมเงินในสายรัดข้อมือได้ ฯลฯ เพราะเทคโนโลยีนี้ มันคือไลฟ์สไตล์ของเขาต่อไปในอนาคต”
ทั้งหมดนี้จึงอาจเป็นภาพที่ทำให้รูปแบบการสร้างเด็กพันธุ์ใหม่ที่มีทักษะดิจิทัลชัดเจนขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นภาพที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนักในประเทศไทย เพราะในความเป็นจริง ก็ต้องยอมรับว่าบรรดาโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลสัญชาติไทยนั้น มีน้อยรายมาก ๆ ที่จะลงมาเริ่มต้นพัฒนาคนไอทีกันตั้งแต่วัยเด็ก โครงการส่วนใหญ่ที่เราพบจึงมักเน้นไปยังนักศึกษาระดับปริญญาตรีเนื่องจากใช้ต้นทุนในการพัฒนาอีกไม่มาก คนเหล่านี้ก็พร้อมจะเข้าสู่โลกแห่งการทำงานแล้ว แต่สำหรับคุณอภิชัย และ Think Academy อาจมองต่างออกไป โดยคุณอภิชัยตอบสั้น ๆ ว่า
ผมทำเพราะอยากพัฒนาคนในบ้านเกิดของผมครับ
“เราเป็นคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่พอจะทำอะไรให้บ้านเกิดได้ เราก็ทำ ในเมื่อเมืองกำลังจะมีเทคโนโลยีทันสมัยมากมาย เราก็ควรจะสร้าง Smart People ขึ้นมา เพื่อให้คนเหล่านี้เข้ามารับช่วงต่อเพื่อสร้างเมืองที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และผมเชื่อว่า เราต้องเริ่มจากเด็ก เพราะเด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า การที่เราเริ่มปู Logical Thinking ตั้งแต่เด็ก เราจะได้บุคคลากรที่มีคุณภาพในอนาคต เพื่อมาพัฒนาเมืองของเราต่อไปครับ”