หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม ปั้นแรงงานแห่งอนาคตรับ “อีอีซี” 5 ปีมีความต้องการเฉียด 5 แสนคน

ปั้นแรงงานแห่งอนาคตรับ “อีอีซี” 5 ปีมีความต้องการเฉียด 5 แสนคน

1831
0

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงได้พัฒนากำลังแรงงานให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยได้ทำงานร่วมกับ สำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และได้จัดทำข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงาน ของสถานประกอบการในพื้นที่ และมีการบรรจุคนเข้าทำงานแล้ว 30,000 อัตรา จากการประเมินความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พบว่า มีความต้องการแรงงานเข้ามาทำงานในพื้นที่จำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่แรงงานต้องได้รับการเพิ่มพูนทักษะ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ความ ต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อีอีซี ใน 5 ปี (2562-2566) มีจำนวน 475,667 คน เป็นระดับอาชีวศึกษา 253,115 คน ปริญญาตรี 213,942 คน ปริญญาโท ปริญญาเอก 8,610 คน แบ่งเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 53,739 คน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 58,228 คน ท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้ดี 16,920 คน หุ่นยนต์ 37,526 คน การบิน 32,837 คน ดิจิทัล 116,222 คน การแพทย์ครบวงจร 11,410 คน ระบบราง (รถไฟความเร็วสูง) 24,246 คน พาณิชย์นาวี 14,630 คน และโลจิสติกส์ 109,910 คน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า สกพอ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรองรับความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรและการศึกษายุคใหม่ เพื่อนำไปสู่การจัดทำหลักสูตรร่วม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และการเรียนรู้ ตามหลัก Demand Driven คือการผลิตบุคลากร สร้างความมั่นใจนักลงทุน โดยเสนอปรับโครงสร้างการจัดการการศึกษา การเรียนรู้จากด้าน “อุปทาน” สู่ “อุปสงค์” ตอบโจทย์การมีงานทำ มีรายได้ดี

ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางการผลิตกำลังคนคุณภาพเพื่อตอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 แนวทาง อาทิ New Skill ด้วยการปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน ครูผู้สอน และใช้เครื่องมือ ตรงตามความต้องการในการใช้งานจริงของภาคอุตสาหกรรม และ Up Skill คือการเพิ่มทักษะบุคลากรให้ก้าวทันเทคโนโลยี โดยสอนตรงตามความต้องการใช้งานจริง ขณะที่นโยบาย Demand Driven อีอีซี และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมกันทำงานภายใต้ 3 แนวคิด อาทิ Networking for grand cooperation of us all คือการสร้างความร่วมมือ โดยไม่แบ่งแยกการทำงาน, Global standard การสร้างเยาวชนไทยสู่มาตรฐานโลก และ Co-sponsorship 50:50 Public and private ที่ภาครัฐและเอกชนร่วมกันสนับสนุนอย่างเท่าเทียม เพื่อให้การพัฒนาบุคลากรในอีอีซีประสบความสำเร็จ.