หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม ป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ ภารกิจหลักอาเซียน

ป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ ภารกิจหลักอาเซียน

2411
0

ขณะนี้หลายประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) พยายามหาวิธีปกป้อง อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศของตัวเอง ที่ได้รับผลกระทบจากรถยนต์นำเข้า หลังจากมาตรการยกเลิกการจัดเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกันในหมู่ชาติสมาชิก เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว

อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ออกมาตรการต่างๆ เพื่อสกัดกั้นรถนำเข้า และปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตรถ ในประเทศ ส่วนมาเลเซีย กำลังมองหา แนวทางต่างๆ เพื่อลดปริมาณการจัดจำหน่ายรถยนต์ต่างชาติ ซึ่งแนวโน้มลักษณะนี้ จะรุนแรงขึ้นเนื่องจากหลายประเทศพยายามลดการขาดดุลการค้า และกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะสั้น แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การทำลักษณะนี้จะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ่อนแอลงในระยะยาว

เมื่อไม่นานมานี้  อินโดนีเซีย ประกาศแผนจำกัดการนำเข้ารถด้วยการกำหนดเพดานที่ค่ายรถแต่ละแห่งจะนำเข้ามาในประเทศ โดยยึดตามการสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นของค่ายรถแห่งนั้นๆ เป็นหลัก ซึ่งจะทำให้บริษัทที่มีกำลังการผลิตรถ ไม่มากหมดโอกาสที่จะนำเข้ารถไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ รัฐบาลจาการ์ตา จะเลิก ออกใบอนุญาตนำเข้ารถที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 3 ลิตรหรือมากกว่านั้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ช่วยลดการขาดดุลการค้าแก่รัฐบาล ได้อย่างเห็นผล ทั้งยังช่วยจำกัดการ อ่อนค่าลงของค่าเงินรูเปี๊ยะห์ด้วย

ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์อินโดนีเซีย มีค่ายรถญี่ปุ่นเป็นเจ้าตลาด โดยครองส่วนแบ่ง มากถึง 90% และค่ายรถญี่ปุ่นอีกเช่นกัน ที่ครองส่วนแบ่งตลาดรถในอาเซียนมากถึง 80%  โดยอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใหญ่สุดอันดับสองของบรรดา ค่ายรถญี่ปุ่นหลายแห่ง ที่นอกจากจะผลิต

รถยนต์ทั่วไปแล้ว ยังผลิตรถมินิแวน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและรถยนต์นั่ง ส่วนบุคคลขนาดเล็กด้วย  ส่วนรถยนต์รุ่นอื่นๆ อย่างเช่น เก๋งซีดานนำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตใหญ่สุดและ นำเข้าจากญี่ปุ่นโดยตรง

อย่างไรก็ตาม บรรดาค่ายรถชั้นนำ ต่างมีความเห็นตรงกันว่า การใช้มาตรการคุมเข้มต่างๆ เพื่อลดการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อยอดขายรถในท้องถิ่น โดยผู้บริหารจากโตโยต้า มอเตอร์ ซึ่งมียอดขายอันดับต้นๆ ในอินโดนีเซีย บอกว่า บริษัทกำลังจับตามองและศึกษาผลกระทบที่จะเกิดตามมาจากมาตรการนี้ของหลายประเทศในอาเซียน

มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี ของมาเลเซียพยายามสกัดรถยนต์นำเข้า เช่นกัน พร้อมทั้งออกมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ

“เราจำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ ของเงื่อนไขต่างๆ ให้อย่างถ่องแท้ ซึ่ง จะทำให้รถยนต์ต่างชาติเข้ามาในประเทศเราไม่ได้ง่ายๆ และเปิดโอกาสให้รถยนต์ โปรตอนรวมทั้งรถยนต์ในท้องถิ่นยี่ห้ออื่นๆ มีโอกาสได้เป็นเจ้าตลาดบ้าง” ผู้นำมาเลเซีย กล่าวเมื่อเดือนก.ค.

กำลังการผลิตรถยนต์ในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านคัน ในจำนวนนี้ ประมาณ 80% ผลิตในประเทศไทยหรือในอินโดนีเซียและส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างเช่นมาเลเซีย โดยโตโยต้า มอเตอร์ และมิตซูบิชิ มอเตอร์มีโรงงานผลิต ในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แต่ฐานการผลิตหลักของทั้งสองบริษัท อยู่ในไทยและอินโดนีเซีย

มาเลเซีย ให้การสนับสนุนค่ายรถแห่งชาติอย่างโปรตอนผ่านมาตรการจูงใจด้านภาษีและให้ทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) แต่ค่ายรถยนต์ แห่งชาติของมาเลเซียก็ไม่ประสบ ความสำเร็จในการส่งออกรถยนต์ไปขายในต่างประเทศ ขณะที่นายกรัฐมนตรี มหาธีร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำอาเซียน ที่พยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศขยายตัวครอบคลุมทั่วทั้ง ภูมิภาค

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก รวมถึงมีการยกเว้นภาษีสินค้าบางชนิดให้กับประเทศสมาชิก ส่งเสริมให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง มั่นคง ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยจะเร่ง ลดภาษีสินค้าใน Priority Sectors (เกษตร/ประมง/ผลิตภัณฑ์ไม้/ผลิตภัณฑ์ยาง/ สิ่งทอ/ยานยนต์/อิเล็กทรอนิกส์/เทคโนโลยีสารสนเทศ/สาขาสุขภาพ) เป็น 0% เร็วขึ้นจากกรอบอาฟต้าเดิม 3 ปี คือ จากปี 2553 เป็นปี 2550 สำหรับสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และ ปี 2558 เป็น 2555 สำหรับประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี โดยกำหนด เพดานสำหรับสินค้าทั้งหมดใน Priority Sectors ไม่ต้องการเร่งลดภาษี (Negative List) ไว้ที่ 15%

ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนาม ต้องการ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ จึงลดการนำเข้า รถยนต์จากต่างประเทศ หลังจากยอดนำเข้า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนานกว่า 3 ปี โดยเมื่อ ปี 2559 ที่ผ่านมา เวียดนามมียอดนำเข้ารถ จำนวน 112,497 คัน (สัดส่วนประมาณ การตลาดรถยนต์ในประเทศ 197,000 คัน) มูลค่านำเข้า 2,381 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก ปี 2558 ซึ่งนำเข้า 125,534 คัน มูลค่า 2,982 ล้านดอลลาร์  โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 รองลงมาคือ อินเดีย เกาหลี จีน และญี่ปุ่น

ค่ายรถที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ของเวียดนามคือ ฟอร์ด มอเตอร์ ที่ระบุว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทได้ระงับการผลิต รถฟอร์ด เรนเจอร์ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ ที่ผลิตในไทย และฟอร์ด เอ็กซ์พลอเรอร์ ที่ผลิตในสหรัฐเพื่อส่งออกไปเวียดนามแล้ว เพราะได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่บริษัท ก็ร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์แห่งประเทศเวียดนาม (วีเอเอ็มเอ) เพื่อแก้ปัญหานี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ