หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม สงครามการค้าสหรัฐ-จีนลามหนัก จับตา”หยวนอ่อน” ทุบส่งออกไทย

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนลามหนัก จับตา”หยวนอ่อน” ทุบส่งออกไทย

1650
0
สมรภูมิการค้าโลกเดือด สหรัฐ-จีนออกอาวุธขึ้นภาษี-ลดค่าเงิน พาณิชย์ระดมทูตพาณิชย์รับมือ ชี้กระทบส่งออก 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านเอกชนคาดการณ์ช่วงสั้นสินค้าเกษตรได้รับอานิสงส์ ระยะกลางโยกฐานการผลิตเข้าอาเซียน พร้อมจับตาค่าเงินผันผวนหนัก หยวนอ่อนเป็นปัญหาใหญ่สุด ส่วนศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศคาดการณ์ ไทยเจอ 2 เด้งทั้งสงครามการค้า-คู่แข่งเวียดนาม อาจทำให้ส่งออกไทยติดลบได้ในปีนี้

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนได้ถูกยกระดับขึ้นด้วยการขึ้นภาษีตอบโต้กันอย่างรุนแรง หลังจากที่การเจรจาครั้งสุดท้ายประสบกับความล้มเหลว โดยสหรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีนล่าสุดอีก 200,000 ล้านเหรียญ และเมื่อรวมกับการขึ้นภาษีครั้งแรกอีก 300,000 ล้านเหรียญ รวมเป็นสหรัฐขึ้นภาษีตอบโต้จีนไปแล้วกว่า 500,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่จีนก็ประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐคิดเป็นมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านเหรียญ รวมไปถึงการปรับค่าเงินหยวนของจีนในอ่อนค่าลง และยังมีสัญญาณว่าจะบานปลายไปสู่การใช้มาตรการตอบโต้การลดค่าเงินหยวนโดยสหรัฐอีก

เร่งยานยนต์/อิเล็กทรอนิกส์รับมือ 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือสงครามการค้าที่เกิดขึ้น

พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเชิญนักลงทุนและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กับกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้มากที่สุด มาหารือก่อนจะประชุมกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายส่งออกต่อไป

กระทบส่งออก 5-6 พันล้าน 

ด้านนางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากการขึ้นภาษีสินค้าจีน มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญ อาจจะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงประมาณ 5,600-6,700 ล้านเหรียญ เนื่องจากสินค้ากลุ่มที่ถูกประกาศขึ้นภาษีครั้งนี้ครอบคลุมรายการที่ไทยส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ประมาณ 46% จากการคำนวณทั้งตัวเลขฐานจากไตรมาส 1/62 ทั้งการส่งออกไปสหรัฐทดแทนจีน การส่งออกไปจีน และการส่งออกสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตจีนไปยังตลาดที่สำคัญ โดยการส่งออกไปสหรัฐมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 9.2% การส่งออกไปจีนมีแนวโน้มลดลง 9.7% และการส่งออกไปประเทศที่สามที่เป็น supply chain ลดลง 7.5%

“สนค.วิเคราะห์แล้วพบว่า มีสินค้าหลายตัวที่มีการส่งออกขยายตัวได้น่าพอใจ เช่น เกษตรและอาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม ไก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว แม้ว่าสินค้ารายการเหล่านี้จะมีมูลค่าน้อยไม่อาจชดเชยการหดตัวในสินค้าอุตสาหกรรมได้ แต่ก็เป็นกลุ่มที่ส่งผลดีต่อรายได้ภาคเกษตร และ SMEs ส่วนสินค้าที่อาจจะส่งออกลดลงมากได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกโดยนักลงทุนต่างชาติและไทยขนาดใหญ่ อาจจะต้องใช้มาตรการลงทุนเป็นเครื่องมือสนับสนุนดึงดูดนักลงทุนจากทุกประเทศรวมทั้งจีนมาลงทุนใน EEC มากขึ้น” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ส่วนกลุ่มสินค้ายานยนต์อาจจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการ Safeguard ภายใต้มาตรา 232 (กม.ความมั่นคง) ของสหรัฐ ที่คาดว่าจะประกาศผลเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งจากความตกลง USMCA ที่มาแทน NAFTA จะมีผลใช้บังคับในต้นปี 2563 มีการกำหนดเงื่อนไข local content เข้มงวดขึ้นจาก 60.62.5% เป็น 75% นั้น รัฐบาลอาจจะต้องสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยหาวิธีทำ joint venture หรือลงทุนร่วมกับบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสหรัฐ หรือเม็กซิโกอยู่แล้ว เพื่อรักษาสัดส่วนในตลาดไว้

ค่าบาทไทยปกติ

ส่วนกรณีที่สหรัฐเพ่งเล็งว่า ประเทศไทยอาจเข้าข่ายเป็นประเทศที่เป็น “currencymanipulator” นั้น จากข้อมูลการส่งออกไปสหรัฐของฝ่ายไทยพบว่า แม้การดูแลค่าเงินจะสูงขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่ผิดปกติในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ตรงกันข้ามเงินบาทไทยค่อนข้างแข็งมากเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย

อิเล็กทรอนิกส์จ่อติดลบ

ด้าน น.ส.กัญญาภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกยังไม่ปรับเป้าหมายการส่งออกปี 2562 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3% แต่เร็ว ๆ นี้จะจัดประชุมหารือกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อประเมินสถานการณ์และแผนการรับมือ เบื้องต้นคาดว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้มีโอกาสติดลบในปีนี้ ส่วนสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา-มันสำปะหลัง คาดว่าจะขยายตัวได้ดี

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สามารถวิเคราะห์ได้ 2 ด้าน คือ การปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนจาก 10% เป็น 25% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร และการที่จีนปรับขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐอีก 60,000 ล้านเหรียญ เพื่อเป็นการตอบโต้ในสินค้าเกษตรก็จะสร้างโอกาสให้กับสินค้าเกษตรของไทยที่จะเข้าไปทดแทนใน 2 ตลาด โดยเฉพาะสินค้าน้ำตาล ซึ่งไทยมีศักยภาพการผลิตสามารถเข้าไปทดแทนในตลาดจีน แต่ต้องปลดล็อกโควตาก่อน และไก่สินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นซัพพลายให้กับจีนและสหรัฐอย่าง กลุ่มยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ ต้องจับตามองว่าจะมีการ “เร่งนำเข้า” ในช่วงสั้นเพื่อไปผลิตก่อนที่มาตรการปรับขึ้นภาษีจะมีผลบังคับใช้หรือไม่ และระยะกลาง ผู้ผลิตจาก 2 ประเทศจะมีโอกาส “ย้ายฐาน” การผลิต ซึ่งอาเซียนและไทยจะเป็นเป้าหมายของการย้ายฐานการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่ม S-curve แต่ก็จะต้องมองเวียดนามไว้ด้วยเพราะเวียดนามได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) มีข้อตกลง FTA-EU และความตกลง CPTPP “ในขณะที่ไทยไม่มี”

ส่วนประเด็นที่จีนลดค่าเงินหยวนจะส่งผลเชื่อมโยงให้เกิดความผันผวนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ถือเป็นปัญหาข้อใหญ่ที่สุดที่ผู้ส่งออกต้องเผชิญ เพราะ 1 ปีที่ผ่านมา “ค่าบาทไทยแข็งที่สุด” เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น การผันผวนของเงินกลับมาอีกรอบ ซึ่งแม้ว่านักวิเคราะห์จะมองว่าบาทไทยมีโอกาสอ่อนค่าลงตามเงินหยวนและเงินในภูมิภาค แต่ในสถานการณ์เช่นนี้เงินน่าจะไหลเข้าไทยมากกว่า

เจอ 2 เด้งส่งออกต่ำสุดรอบ 4 ปี 

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ผลกระทบ EU-Vietnam Free Trade Agreement (EU-VN FTA) และสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยปี 2562 ว่า ผลจากสงครามการค้าสหรัฐและจีนปรับขึ้นภาษีรอบนี้ จะทำให้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2562 ขยายตัว3% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.3-3.5% หรือหดหายไป 0.3-0.5% ซึ่งจะส่งผลไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวเพียง 2.2-4.6% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 3.2-4.6% และหาก FTA เวียดนาม-ยุโรปมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 3

ทำให้เกิดการลดภาษีสินค้าระหว่างกันทันที 70% จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรป ช่วงปี 2562-2564 ลดลงเฉลี่ยปีละ 0.5% โดยครึ่งปีหลังของปีนี้การส่งออกจะหายไป 21,525 ล้านบาท สินค้าที่กระทบมากที่สุด ได้แก่ เสื้อผ้า, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ

โดยหากรวม 2 ปัจจัยทั้งปัญหาสงครามการค้า และ FTA เวียดนาม-อียู จะทำให้การส่งออกไทยลดลงเหลือเพียง 0.5-1% หรือต่ำสุดในรอบ 4 ปี แต่ยิ่งหากสหรัฐเก็บภาษีเพิ่มอีก 300,000 ล้านเหรียญ และจีนเพิ่มภาษีนำเข้าอีก ก็จะทำให้การส่งออกของไทยโตต่ำกว่า 0.5% “หรือไม่ขยายตัวเลย” แต่ต้องติดตามว่าในอนาคต จีนจะลดค่าเงินหยวนอีกหรือไม่ ซึ่งอาจจะลดลงอีก 20-25% เพื่อให้ครอบคลุมกับภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าจีนถูกลง ผลอาจทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทย และมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาค CLMV มากขึ้น

ธปท.เตือนระวังระบายสินค้า

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลจากสงครามการค้าจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การชะลอตัวของการค้าโลก 2) การค้า (trade diversion) ผลกระทบจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น สินค้าไทยที่ส่งไปประกอบในจีน และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่ส่งต่อไปยังตลาดสหรัฐจะได้รับผลกระทบ แต่ขณะเดียวกัน สินค้าที่ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่สามารถส่งไปยังตลาดสหรัฐเพื่อทดแทนสินค้าจากจีน (substitution effect) 3) ด้านการลงทุน (investment diversion) อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนและไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า “สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือการระบายสินค้าที่ส่งไปขายไม่ได้ในระหว่างคู่ค้าหลักเข้ามาทุ่มในตลาดประเทศที่สามอย่างไทย”

ค่าเงินเอเชียอ่อนในระยะสั้น

ด้านนางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จีนได้ประกาศค่าเงินหยวนในช่วงเช้าเมื่อวันที่ 13 พ.ค. อ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง เพื่อเป็นการตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐ ได้ทำให้สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าตามไปด้วย แต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้นในส่วนของค่าเงินบาทในระยะยาวยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะมีปัจจัยความไม่แน่นอนสูง

บาทแข็งสุดในภูมิภาค

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลกระทบสงครามการค้าในแง่การส่งออกของไทยนั้นต้องบอกว่า การส่งออกที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาไม่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นไปทั้งภูมิภาค แต่มีเฉพาะ “เวียดนาม” ที่ส่งออกยังเป็นบวก สะท้อนว่าสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังต้องเผชิญกับภาวะค่าเงินบาทแข็งค่า “ซึ่งแข็งที่สุดในภูมิภาคด้วย”

ทั้งนี้ ปัจจัยที่กดดันภาคการส่งออกของไทยอย่างจริงจังจะเป็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่าผลกระทบจากสงครามการค้าโดยตรง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนเป็นสำคัญ เนื่องจากไทยส่งออกไปจีนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี ต้องจับตาการได้ประโยชน์จากสงครามการค้าในเรื่องการย้ายฐานการผลิตของจีนว่า”ไทยจะได้ประโยชน์แค่ไหน ซึ่งยังคงเป็นความหวังอยู่”

ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐนั้น นายอมรเทพกล่าวว่า “ไม่น่าจะมีผลกระทบมากขึ้น” เพราะสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปยังสหรัฐถือว่าเป็นจุดแข็งของไทยอยู่แล้ว และหลายสินค้าเป็นบริษัทอเมริกันที่มาตั้งฐานการผลิตในไทย แล้วส่งออกสินค้ากลับไป จึงไม่น่ามีผลกระทบมาก นอกจากสหรัฐมีมาตรการกีดกันทางการค้ากับไทยโดยตรง

“ก่อนหน้านี้ ค่าเงินบาทอ่อนค่าจนจะทะลุ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐแล้ว แต่พอสหรัฐมีมาตรการออกมา จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอีก แต่ผมมองว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาระยะยาว ช่วงนี้น่าจะอยู่ในกรอบ 31.50-32 บาทต่อเหรียญ ครึ่งหลังของปีน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ถ้าทุกอย่างชัดเจนแล้ว บาทน่าจะกลับมาอ่อนลงได้” นายอมรเทพกล่าว