หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม สรท. เผยส่งออกปีนี้โตร้อยละ 8 – คาดปี 62 ชะลอร้อยละ 5

สรท. เผยส่งออกปีนี้โตร้อยละ 8 – คาดปี 62 ชะลอร้อยละ 5

1921
0

ภาพรวมสถานการณ์การส่งออกไทยยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าเป็นหลัก โดยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 8 ขณะที่ปี 62 คาดการณ์การส่งออกจะชะลอตัวร้อยละ 6 โดย สรท. แนะไทยควรหันมาส่งเสริมการค้าในอาเซียนแทน

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. นายสุวัฒน์ อัศวทองกุล ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ถึงสถานการณ์การส่งออกไทยประจำเดือนตุลาคม 2561 และปัจจัยที่ส่งผลกระทบ

สมาคมผู้ส่งออกทางเรือแถลงส่งออก.JPG

สถานการณ์การส่งออกไทย ในสายตา สรท.

การส่งออกเดือนตุลาคม มีมูลค่ารวม 21,758 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทมีมูลค่า 702,057 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าเดือนตุลาคม มีมูลค่ารวม 22,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การนำเข้าในรูปเงินบาทมีมูลค่า 720,678 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไทยขาดดุลการค้า 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 18,621 ล้านบาท

ภาพรวมการส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค. – ต.ค.) ไทยส่งออกรวมมูลค่า 211,488 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6,759,577 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 208,929 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6,769,088 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,559 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 83,756 ล้านบาท เมื่อมองในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และขาดดุลการค้า 9,431 ล้านบาท เมื่อมองในสกุลเงินบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ในเดือนตุลาคม ขยายตัวที่ร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยน้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ยังคงมีการเติบโตในตลาด แต่ยางพารามีการหดตัวทั้งด้านราคาและปริมาณ ขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ โทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ด้านกลุ่มสินค้าที่มีการหดตัวได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องซักผ้า

10 อันดับสินค้าส่งออกของไทย ในเดือน ม.ค. – ต.ค. 2561

  • รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สัดส่วนร้อยละ 11.5
  • อุตสาหกรรมอาหาร สัดส่วนร้อยละ 8.4
  • คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สัดส่วนร้อยละ 7.9
  • อัญมณีและเครื่องประดับ สัดส่วนร้อยละ 4.8
  • ผลิตภัณฑ์ยาง สัดส่วนร้อยละ 4.3
  • เม็ดพลาสติก สัดส่วนร้อยละ 4.1
  • วัสดุก่อสร้าง สัดส่วนร้อยละ 3.9
  • น้ำมันสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 3.6
  • เคมีภัณฑ์ สัดส่วนร้อยละ3.6
  • แผงวงจรไฟฟ้า สัดส่วนร้อยละ3.3

การส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 7.1 ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 18.7 และ 7.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังประทเศในยุโรปหดตัวติดลบที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศที่มีศักยภาพสูงขยายตัวร้อยละ 13.2 โดยเฉพาะการส่องออกไปยังประเทศอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 12.0 CLMV ขยายตัวถึงร้อยละ 18.2 และอาเซียน 5 ขยายตัวกว่าร้อยละ 24.4 ส่วนการส่งออกไปจีนกลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.0 ด้านตลาดระดับรองมีการหดตัวถ้วนหน้า เช่น ทวีปออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวติดลบร้อยละ 2.0 6.0 7.4 และ 38.8 ตามลำดับ

10 อันดับตลาดส่งออกสำคัญ ในเดือน ม.ค. – ต.ค. 2561

  • อาเซียน 5 สัดส่วนร้อยละ 15.6
  • จีน สัดส่วนร้อยละ 11.8
  • CLMV (เขมร, ลาว, เวียดนาม, เมียนมา) สัดส่วนร้อยละ 11.4
  • สหรัฐอเมริกา สัดส่วนร้อยละ 11.0
  • ญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 9.8
  • สหภาพยุโรป (15) สัดส่วนร้อยละ 9.1
  • ทวีปออสเตรเลีย (25) สัดส่วนร้อยละ 5.2
  • ฮ่องกง สัดส่วนร้อยละ 5.0
  • เอเชียใต้ สัดส่วนร้อยละ 4.4
  • ตะวันออกกลาง (15) สัดส่วนร้อยละ 3.4

ปัจจัยที่ส่งผลต่อเป้าส่งออกไทยปี 61 และ 62

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่าสภาผู้ส่งออก คาดการณ์การเติบโตทั้งปีที่ร้อยละ 8 และคาดว่าการส่งออกในปี 2562 จะชะลอลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 5 โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์การส่งออกไทยดังนี้ ปัจจัยบวก (1) โอกาสในการส่งออกสินค้าผ่านการค้าออนไลน์มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการดำเนินธุรกิจทั้งแบบ B2B และ B2C (2) การที่สหรัฐฯยืดระยะเวลาการขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเป็นร้อยละ 25 ออกไปอีก 90 วัน ช่วยให้บรรยายกาศการค้าผ่อนคลายลง

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา.JPG

ปัจจัยลบ (1) ความยืดเยื้อของสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบตอ่การส่งออกของไทยไปจีน และสินค้าจากจีนไหลเข้ามาในแถบเอเชียมากขึ้น ประกอบกับการที่อาเซียน (ไทย) มีข้อตกลงทางการค้า ACFTA ทำให้สินค้าที่เข้ามามีอัตราการเสียภาษีในระดับต่ำและกลายเป็นคู่แข่งของสินค้าไทย (2) คำมั่นของจีนที่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น อาจกระทบสินค้าบางรายการของไทยที่ส่งไปยังประเทศจีน (3) ความผันผวนของราคาน้ำมันโลก (4) นโยบายดึงดูดการลงทุนของเวียดนาม (5) ต้นทุนด้านระบบการขนส่ง สำหรับท่าเรือที่น่าเป็นห่วงคือท่าเรือกรุงเทพ เนื่องจากมีศักยภาพในการรองรับเรือสินค้าได้น้อย แต่ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองจึงทำให้มีความต้องการเข้ามาเทียบท่าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไม่สามารถให้บริการได้เพียงพอ ด้านท่าเรือแหลมฉบังพร้อมรองรับการให้บริการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ดีก็ยังต้องมีการจัดการปัญหาการจราจรโดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะแออัดเป็นคอขวด

“พอจีนจะนำเข้าจากอมริกาเพิ่มขึ้น มีสินค้าอะไรที่ไทยขายเหมือนอเมริกาบ้างไหมไปจีน ที่เหมือนกัน เราจะต้องลงไปเจาะลึกกัน” นายวิศิษฐ์ กล่าว

กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์.JPG

น.ส.กัณญภัค ทิ้งท้ายถึงข้อเสนอแนะจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ว่าประกอบด้วย (1) การกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ (2) ส่งเสริมการลงทุนของไทยที่สามารถแข่งขันได้ทั้งการลงทุนภายในและภายนอกประเทศ (3) ส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) ทั้งแบบ B2C และ B2B (4) มีมาตรการสนับสนุนการลงทุนในการผลิตพลังงานทดแทนโดยใช้สินค้าเกษตรมาเป็นวัตถุดิบให้มากขึ้น เพื่อพยุงราคาของสินค้าภาคเกษตรกรรมภายในประเทศให้ดีขึ้น