หน้าแรก อุตสาหกรรม อุตสาหกรรม 4.0 ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ต้องตื่นตัว

อุตสาหกรรม 4.0 ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ต้องตื่นตัว

3409
0

ยุคสมัยนี้ไม่ว่าจะหันไปทิศทางไหน เรามักจะได้ยินคำว่า 4.0 อยู่เสมอๆ คุ้นเคยที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่องของประเทศไทย 4.0 ซึ่งถือเป็นนโยบายล่าสุดของรัฐบาลที่มุ่งหวังว่าจะฉุดประเทศไทยให้พ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ก่อนที่จะเดินมาถึงจุดนี้ที่ผ่านมา เราได้ผ่านยุค 1.0 – 3.0 โดยถูกให้คำจำกัดความว่า

ในยุค 1.0 เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยภาคเกษตรกรรม

ถัดมาเป็นยุค 2.0 เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วย ภาคอุตสาหกรรมเบา

และ ในยุค 3.0 เป็นช่วงเวลาที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมหนัก และการส่งออก ซึ่งเราอยู่ในยุคนี้มาจนถึงจุดที่อิ่มตัว เห็นได้จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มลดลงและทรงตัวที่ระดับต่ำ หากไม่หาแรงขับเคลื่อนตัวใหม่ เราก็จะไม่สามารถหลุดออกมาจากกับดักของรายได้ปานกลางได้ และในที่สุดก็จะถูกคู่แข่งแซงหน้าขึ้นไป

แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ที่รัฐบาลประกาศนำมาใช้ ก็คือ การใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า Value-Base Economy ภายใต้ชื่อ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งการที่จะเดินไปในทางนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนที่มีความเข้มแข็ง

ส่วนอุตสาหกรรม 4.0 มองเผินๆ เหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของ ประเทศไทย 4.0 แต่หากดูถึงที่มาที่ไปของ อุตสาหกรรม 4.0 แล้ว พบว่าเป็นคนละเรื่องกัน อีกทั้งอุตสาหกรรม 4.0 ยังเกิดขึ้นมาก่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 อีกด้วย โดยอุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industry 4.0 ถือเป็นแนวทางในการปฎิวัติอุตสาหกรรมรอบใหม่ ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 ในฐานะนโยบายอุตสาหกรรมแห่งชาติของประเทศเยอรมันนี ซึ่งมองเห็นว่าในช่วง 20 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมโลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบนเครือข่ายอินเตอร์เนต ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสื่อสารได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ไม่ว่าจากคนสู่คน คนสู่เครื่องจักร และ เครื่องจักรสู่เครื่องจักร ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผลในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ในฐานะของนักลงทุน ผู้เขียนเห็นว่าควรมองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในฐานะที่เป็นโอกาสอันดีสำหรับการลงทุน เนื่องจากการปฎิวัติอุตสาหกรรม แต่ละครั้งที่ผ่านมาล้วนทำให้เกิดการยกฐานขึ้นของขนาดอุตสาหกรรม กล่าวคือ

ในยุคเริ่มแรกการดำรงชีพของมนุษย์ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้สังคมเกษตรกรรม การผลิตสินค้าต่างๆที่นำออกมาซื้อขายแลกเปลี่ยนก็มักทำกันในระบบครัวเรือน การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 หรืออาจเรียกว่า Industry 1.0 เป็นการปรับจากการผลิตในครัวเรือน มาเป็นการดำเนินการโดย พ่อค้า – นายทุน โดยจะทำหน้าที่ลงทุนรวบรวมสินค้า หรือจ้างแรงานในการผลิตสินค้าขึ้นมา แล้วนำไปขายต่อ ซึ่งไม่มีความซับซ้อน กระบวนการผลิตก็จะใช้ แรงงานคน แรงงานสัตว์ ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในช่วงเวลาต่อมา ก็ได้มีการคิดค้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยการนำเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไอน้ำมาใช้งาน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ การเปลี่ยนแปลงจากการผลิตในครัวเรือนมาสู่การผลิตในระบบนายทุน และการนำเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำ มาใช้ ทำให้เกิดผลผลิตที่สูงขึ้นอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นยุคของ อุตสาหกรรม 1.0

การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 หรือ Industry 2.0 เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นมาอีกหนึ่ง โดยมีการเปลี่ยนแปลงใน 2 ส่วนที่สำคัญคือการนำระบบสายพาน มาใช้ในสายการผลิตทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตขึ้นมาได้อย่างมาก เห็นได้ชัดเจนในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ นำโดยค่ายรถยนต์ Ford และขยายออกไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ สำหรับพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนเครื่องจักร ก็ได้ปรับเปลี่ยนจาก พลังงานไอน้ำ มาเป็นพลังานไฟฟ้า พัฒนาการทั้ง 2 ส่วน ทำให้อุตสาหกรรมสามารถผลิตสินค้าที่เหมือนๆ กันได้เป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า Mass Product

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 หรือ Industry 3.0 เป็นยุคที่เริ่มนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานในอุตสาหกรรม และพัฒนาให้สายการผลิตที่เป็นอยู่ในยุค Industry 2.0 กลายเป็นสายการผลิตอัตโนมัติ มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่ง และที่สำคัญ ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนเพิ่มเติมขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานอุตสาหกรรมยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และมีลักษณะที่เป็น Stand Alone โดยยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างกัน

สำหรับการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0 เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบนเครือข่ายอินเตอร์เนต ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสื่อสารได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยทำให้มนุษย์ กับเครื่องจักร รวมถึง เครื่องจักร กับ เครื่องจักร สามารถเชื่อมต่อกันได้ หรือเป็นแนวคิดที่เรียกว่า Internet of Things ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการทั้งในอุตสาหกรรม ตลอดจนรูปแบบการดำรงชีวิตของบุคคล ยกตัวอย่างเช่น

  • การผลิตสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของแต่ละบุคคลได้มากขึ้น และผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ลดต่ำลง ด้วยปรับโรงงานให้เป็น Smart factory ผ่านการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3D ส่วนในภาคบริการ ก็จะทำให้บริการหลายประเภท ซึ่งที่ผ่านมาถูกสร้างเพื่อตอบสนองความต้องการกับสาธารณชน สามารถปรับให้ตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคลซึ่งไม่เหมือนกันได้ ที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันก็เช่น การดูโทรทัศน์ ซึ่งในอดีตมีทางเลือกไม่มาก แต่ปัจจุบันนอกจากมีจำนวนช่องทีวีที่มากและหลายหลายขึ้นแล้วยังมี TV on Demand ในอนาคต ก็อาจะเป็นไปได้ว่า เราไปชมภาพยนตร์กับเพื่อนในโรงภาพยนต์เดียวกัน แต่สามารถที่จะชมภาพยนตร์คนละเรื่องกันได้ เป็นต้น
  • ความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการสินค้า ทำได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างในเบื้องต้นที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันก็เช่น การให้บริการทางการเงินผ่านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งนอกจากจะรวดเร็วแล้วยังเสียค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงมากด้วย เช่น การโอนเงินผ่าน Prompt Pay เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีระบบ Online Shopping หรือ TV Shopping ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในระบบอุตสาหกรรม การที่ Suppliers สามารถตอบสนองความต้องของโรงงานได้อย่างรวดเร็ว ก็น่าจะทำให้ภาระในการจัดเก็บสินค้าคงคลังลดลงไปได้มาก
  • การเชื่อมต่อระหว่าง Supply Chain ตลอดสาย ให้ทำงานสอดคล้องกับ Demand ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และทำให้สินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ที่ดีขึ้น อย่างเช่น ระบบการเรียกใช้บริการรถโดยสารผ่าน Application บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ การนำห้องพักที่ว่างออกปล่อยเช่า และการจองห้องพัก ผ่าน Applications หรือบน Website เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้สินทรัพย์ที่มีอยู่ถูกนำมาใช้ทำประโยชน์ได้มากขึ้น และทำให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
  • การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจเดิมที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางต้องพบกับคู่แข่งที่น่ากลัว และหากไม่ปรับตัวก็อาจถูกขจัดออกไปจากวงจรธุรกิจ เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าทำให้การติดต่อกันโดยตรงระหว่างผู้ขายสินค้า – บริการ กับผู้ซื้อสินค้า – บริการ พบกันง่ายขึ้น เช่น เกษตรกร สามารถขายผลผลิตโดยตรงให้กับผู้บริโภคได้ ผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน – รถยนต์ ก็มีช่องทางที่จะเข้าติดต่อกับผู้ที่มีความต้องการได้โดยตรง และต่อไปธุรกิจการเงิน ที่เคยมีตัวกลางเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ที่มีเงินทุนเหลือ กับผู้ที่ต้องการใช้เงินทุน บทบาทของตัวกลางก็อาจถูกลดทอนลงได้ในอนาคต หากไม่มีการปรัวตัว ทั้งนี้รวมถึงนายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันพบว่าปริมาณการซื้อขายโดยตรงผ่านระบบอินเตอร์เนตมีมากกว่าการซื้อขายระบบเดิม

นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีพัฒนาการอีกมากมายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจากนี้ไปต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต – การค้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และหากมองในมุมของนักลงทุน ก็ต้องเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ดี ซึ่งมองในเชิงบวก ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำกำไรได้ในอนาคต แต่ขณะเดียวกัน หากขาดการเตรียมตัวที่ดีพอก็จะนำไปสู่ความเสี่ยงอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทยแล้ว การประกาศนโยบาย ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 เพื่อที่จะยกเครื่องทุกภาคส่วนให้สามารถหน้าวิ่งไปข้างหน้าพร้อมกัน สู่เป้าหมายข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยรัฐบาลออกมาตรการต่างๆ มาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นต้น ถือเป็นเรื่องที่มีส่วนช่วยอย่างมากที่จะทำให้ภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมในประเทศก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับในแง่มุมของบริษัทจดทะเบียน ประเมินว่าพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาจากนี้ไป น่าจะเห็นการการเดินหน้าเข้าสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ โดยการลงทุนส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของระบบเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่มีอยู่ ผ่านการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งการปรับตัวในช่วงที่เป็นรอยต่อในปัจจุบัน จะเป็นตัวชี้วัดว่าในอนาคต 10 – 20 ปีข้างหน้า ใครจะรุ่งโรจน์ หรือ ใครจะร่วงโรย