หน้าแรก อุตสาหกรรม เชิญพร เต็งอำนวย ปั้น “Medical Hub”

เชิญพร เต็งอำนวย ปั้น “Medical Hub”

1787
0

สัมภาษณ์

อุตสาหกรรมยา เป็นส่วนหนึ่งใน “อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร” ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น medical hub ของอาเซียน ทั้งในด้านบริการ ห้องทดสอบ และการผลิตยา แม้ว่ากฎระเบียบขั้นตอนในบางอย่างที่ยังไม่อำนวยความสะดวกมากนัก แต่รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่จะพยายามทำให้สิ่งที่เป็นอุปสรรคหายไป “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายเชิญพร เต็งอำนวย” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยา ส.อ.ท. ในงาน CPhI South East Asia 2019 ที่จัดโดยบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ครั้งแรกในไทย ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงศักยภาพยาที่มีภาพรวมการเติบโตสูงถึง 5-10% ทุกปี และเปิดโอกาสให้ประเทศยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมยาในเอเชียอย่าง จีน อินเดีย กาตาร์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ได้จับคู่ธุรกิจ (business matching) และ showcase ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม

พร้อมเป็น Medical Hub New S-curve คือ อุตสาหกรรมยาที่มีการนำเทคโนโลยีใหม่ เพื่อนำมาใช้ในขบวนการผลิตต่าง ๆ เช่น ไบโอเทค นาโนเทค ที่จะนำนวัตกรรมมาพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ยาในกลุ่มยาชีววัตถุ นำมารักษาโรค เช่น มะเร็ง หรือเรื่องเซลล์บำบัดอย่างสเต็มเซลล์ การตัดต่อยีนส์จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลมากขึ้น ดังนั้น เป้าหมายให้ไทยเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หรือ medical hub ถือว่ามีโอกาสมากกว่า 50% ไทยเดินมาเกินครึ่งทางแล้ว สังเกตได้จากชาวต่างชาตินิยมเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก สิ่งที่จะเชื่อมโยงการเป็น medical hub จะต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่

ฉะนั้น เราต้องพัฒนาให้ทันเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลให้การสนับสนุน แต่อยู่ที่ผู้ที่มีเทคโนโลยีจะเข้ามาในประเทศได้มากน้อยเพียงใด เพราะยังมีเทคโนโลยีที่ไม่ถูกต้อง ทางรัฐบาลไม่ให้การยอมรับ เช่น ด้านสเต็มเซลล์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอีกไม่นานจะสามารถเป็น medical hub ได้อย่างสมบรูณ์ ในการจัดงาน CPhI South East Asia 2019 ครั้งนี้

นับว่ามีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนให้ไทยไปสู่การเป็น medical hub ได้ เนื่องจากมีการจับคู่ธุรกิจ (business matching) และ showcase ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม เป็นศูนย์รวมเทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ใหม่ มันก็จะทำให้อุตสาหกรรมในไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และตามทันเทคโนโลยีต่าง ๆ

มูลค่าตลาดยาโต 5-10%

ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ไม่รวมการรักษาพยาบาล และด้านบริการอื่น ๆ โดยที่ผ่านมามูลค่าตลาดสูงขึ้นมากกว่า 10% แต่ช่วงหลังโตเฉลี่ยประมาณ 5-10% ขึ้นอยู่กับสภาวะ สาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหดตัวลงในช่วงหลัง เนื่องจากมีการนำเข้ายาตัวใหม่ที่มีความจำเป็นในการรักษาพยาบาล เช่น ยาโรคมะเร็ง ที่มีราคาสูง แต่ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมยาสามารถผลิตทดแทนการนำเข้าได้ แต่ต้องหลังจากตัวยาหมดสิทธิบัตรแล้วเท่านั้น ซึ่งมีอายุ 20 ปี จึงส่งผลให้ตลาดยาหดตัวลง อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นต้องนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตรตัวใหม่ ๆ ซึ่งทำให้เกิดความสมดุลกัน โดยสัดส่วนตัวเลขการนำเข้าถ้าเทียบกันกับค่ายาที่มีการนำเข้าประมาณ 60-70%

ส่วนเรื่องที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุน คือ การเปิดช่องทางพิเศษในการดูแลผลิตภัณฑ์ เพราะว่าถ้าหากเราสามารถพัฒนายากลุ่มนี้ขึ้นมาก็จะทดแทนการนำเข้า และประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งจริง ๆ ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พยายามเปิดช่องทางพิเศษในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทางเราก็หวังว่าจะมีการพัฒนาและสนับสนุน ทำให้อุตสาหกรรมในประเทศมีความเข้มแข็งขึ้น

ขานรับออกใบสั่งยาแบบสากล

สำหรับมาตรการขึ้นบัญชีควบคุมสินค้ายา ซึ่งมีประเด็นที่จะมีการพิจารณาให้โรงพยาบาลเอกชนออกใบสั่งให้ผู้ป่วยไปซื้อยาข้างนอก เรามองว่าเป็นแนวทางที่ดี จะต้องมีการแบ่งหน้าที่กัน เช่น หมอเป็นผู้วินิจฉัยโรค ส่วนเภสัชกรจะมีหน้าที่ในการจ่ายยาและให้คำปรึกษา แต่ก็คงต้องใช้เวลาในการปรับ เพราะยังมีประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศ จึงส่งผลให้ราคายาแพงขึ้น ฉะนั้น ถ้าหากไทยจะเป็น medical hub เราก็มองว่า การควบคุมราคายาก็ไม่ควรเกิดขึ้น แต่เวลาเดียวกันการที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลต้องเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องสมดุลระหว่าง medical hub การดูแลผู้ป่วยต่างประเทศ กับการดูแลผู้ป่วยในประเทศ

ห่วงขยายสิทธิบัตรยา

เอกชนยังคงมีความเป็นห่วงว่า ต่างชาติได้ขอให้มีการขยายสิทธิบัตรยา เป็น 25 ปี จากเดิมมีอายุ 20 ปีเท่านั้น โดยหวังการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) จะมีโอกาสที่จะตกลงกันในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้มีการขยายอายุสิทธิบัตรยา เพราะจะส่งผลให้ไทยติดกับดักยังต้องนำเข้ายา และไม่สามารถพัฒนายาขึ้นเองได้ แม้ว่าขณะนี้ไทยจะสามารถผลิตยาได้เองแล้วก็ตาม