หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม “โคเบลโก้ มิลล์คอน” รับอานิสงค์อุตฯยานยนต์-EEC ดันเหล็กลวดเกรดพิเศษทะลุ3.5แสนตันปี 62

“โคเบลโก้ มิลล์คอน” รับอานิสงค์อุตฯยานยนต์-EEC ดันเหล็กลวดเกรดพิเศษทะลุ3.5แสนตันปี 62

2429
0

“โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล” ผู้ผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษรายเดียวในไทย มั่นใจอุตสาหกรรมเหล็กยังเติบโตต่อเนื่อง รับอานิสงค์อุตฯยานยนต์ขยายลงทุนในอีอีซีเพิ่ม ตั้งเป้าปีหน้ากำลังการผลิต 3.5 แสนตัน/ปี จากปีนี้ 1.6 แสนตัน พร้อมส่งออกอาเซียน

นายมาซาทาคะ ชิโมซึซะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด หรือ KMS ผู้ผลิตและจำหน่าย เหล็กลวดและเหล็กลวดเกรดพิเศษ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิต 160,000 ตัน/ปี ส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นการผลิตเหล็กลวดเกรดธรรมดา และราว 20-30% เป็นการผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษ โดยปี 2562 ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 350,000 ตัน/ปี พร้อมกับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษกว่า 30% หรือประมาณ 10,000 ตัน/เดือน และคาดว่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตเป็น 400,000 ตัน/ปี ได้ภายในปี 2563 และลดการนำเข้าทั้งหมด

ทั้งนี้ KMS เป็นบริษัทร่วมทุนฝั่งละกัน 50% มูลค่า 6,790 ล้านบาท ระหว่าง บริษัทมิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) และบริษัท โกเบ สตีล จำกัด ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น บริษัท โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด หรือ KMS จึงถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กลวดเกรดพิเศษรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย จากในอดีตนำเข้าจากต่างประเทศ 100% โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิ ยางรถยนต์ เครื่องยนต์ สปริง น็อต สกรู โชคอัพ suspension เป็นต้น

นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์ ประธานกรรมการบริหารร่วม บริษัทโคเบลโก้ มิลล์คอนฯ กล่าวว่า ครึ่งหลังปี 2562 วางแผนเตรียมผลิตเพื่อการส่งออกต่างประเทศพุ่งเป้า อินโดฯ มาเลย์ เวียดนาม และจีน ขณะเดียวกันไปรับอานิสงค์จากโครงการที่เกิดขึ้นใน EEC ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเหล็กเกรดพิเศษเพิ่มอีก 10%

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานและกระบวนการผลิตในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นได้จับมือกันเพื่อพัฒนาในหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมเหล็กทำให้ไทยมีเทคโนโลยีและพัฒนาไปได้มาก สามารถผลิตเหล็กคุณภาพสูงเกรดพิเศษที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ และในอีก 2 สัปดาห์เตรียมหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 รวมถึงแนวทางการศึกษาและนโยบายการสกัดตั้งโรงงานเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน