กนย.ไฟเขียว เอาใจชาวสวนยางไร่ละ 1,800 บาท ดัน อบต.สร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศ 1 กม. งบ 9.2 หมื่นล้าน อัดฉีด 5,000 ล้าน หนุนสหกรณ์ส่งออกตรง คิดดอกต่ำ 0.01%
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ว่าในที่ประชุมเห็นชอบการแก้ไขปัญหายางพาราใน 3 โครงการ ตามที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เสนอ คือ 1.โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง บรรเทาความเดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ แยกเป็นเพื่อช่วยเหลือเจ้าของสวน 1,100 บาทต่อไร่และ คนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่
2.โครงการสร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร (กก.) ซึ่งมีเป้าหมายสร้างทำถนนลาดยางมะตอยผสมฟยางพารา หรือ ถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศ จำนวน 75,032 หมู่บ้าน รวม ระยะทาง 75,032 กิโลเมตร(กม.) งบประมาณ 92,327 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณค่าน้ำยางสด 16,326 ล้านบาทและ งบประมาณค่าก่อสร้าง ไม่รวมค่าน้ำยาง 75,962 ล้านบาท และค่าบริหารโครงการ 38.0720 ล้านบาท
มีเป้าหมายสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศจำนวน 75,032 หมู่บ้านหมู่บ้านละ 1 กม. รวมระยะทาง 75,032 กม. ดำเนินการระหว่างเดือนธ.ค.2561 – ก.ย.2562 ซึ่งคาดว่าจะ สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น โดยเพิ่มการใช้น้ำยางสด 1.44 ล้านตัน หรือจำนวนน้ำยางข้น 720,320 ตัน
“งบประมาณที่ใช้จะเป็นงบเหลือจ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่ง1 กม. ที่สร้างเป็นระยะทางเบื้องต้นที่กำหนดให้ทุกอบต.ต้องใช้ยางเป็นส่วนผสมในการสร้างถนน แต่ในความเป็นจริงคาดว่าจะใช้มากกว่านั้นเพราะไม่มีหมู่บ้านไหนที่สร้างถนนแค่ 1 กม. วิธีการนี้จะช่วยดูดซับยางออกจากระบบเร็วและมาก แต่กกระทรวงเกษตรฯจะไม่เร่งรัดการดำเนินการ จะแล้วแต่ความพร้อม เพราะงบประมาณที่ใช้เป็นงบปกติปี 62 ของแต่ละอบต.ซึ่งขณะนี้มีหลายจังหวัดเริมแล้ว และมีกว่า 40 จังหวัดที่สนใจจะทำ“
และ 3.โครงการการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางของสถาบันเกษตรกร ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ในการแปรรูปยางเพื่อการส่งออก โดยเงินจำนวนนี้จะใช้วงเงินสินเชื่อของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยในอัตรา 4% ต่อปี สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้กับธ.ก.ส.ในอัตรา 3.44 % ต่อปี รวมวงเงิน 199.50 ล้านบาท ทั้งนี้ธ.ก.ส.ขอตั้งงบประมาณเพื่อขอรับการชดเชยตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบ
ส่วนค่าบริหารโครงการ ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนจ่ายขาดให้กับสถาบันเกษตรกรเป็นค่าบริหารการแปรรูปยางพาราให้กับสมาชิกของสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านกรมส่งเริมสหกรณ์ ในอัตรา 2 บาทต่อกก. รวมเป็นเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์จะฝากไว้กับ ธ.ก.ส. และให้ทางธ.ก.ส.ทำหน้าที่โอนเงินให้สถาบันเกษตรกรตามค่าใช้จ่ายจริง
“ในเบื้องต้นมีสหกรณ์ที่รวมกลุ่มและเข้าร่วมโครงการแล้ว 8 กลุ่ม ดังนั้นจึงสั่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกยท. เข้าไปคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งเพิ่มเข้ามาอีก ส่วนใน 5-6 ธ.ค.นี้ กระทรวงเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือกับผู้ผลิตล้อยางในประเทศและต่างประเทศอีกครั้ง เนื่องจากถ้าบริษัทฯ ผลิตล้อยางเพิ่มปริมาณรับซื้อยางจากชาวบ้าน บริษัทฯ จะได้รับความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาลบ้าง”
ส่วนการลดพื้นที่ปลูกยาง กรณีสวนยางอายุตั้งแต่ 15 ปี หรือเกิน 25 ปี หรือสวนยางที่มน้ำยางน้อย อยากให้หยุดปลูกต่อ และถ้าหากพื้นที่ใดต้องการปลูกยางใหม่จะต้องวางแผนแปลงใหม่ โดยปลูกพืชแซมสวนยาง หรือปลูกพืชอื่นๆ ไปด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจาก 3 หน่วย คือ กยท. กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อการสนับสนุนเกษตรกร ในการหาเมล็ดพันธุ์พืชที่เกษตรกรต้องการเปลี่ยน ให้แล้วเสร็จก่อนขึ้นปีใหม่ 63 นี้