ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่องสถานการณ์การจ้างงานไทย โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าสถานการณ์การจ้างงานในปี 63 จะย่ำแย่ลงกว่าปีนี้ เป็นผลจากปัจจัย ดังนี้
1.แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงขาลง โดยการค้าโลกที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ขณะที่สต๊อกสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยกดดันภาคการผลิตไปอีกอย่างน้อยครึ่งแรกของปีหน้า
2.ผลกระทบต่อแรงงานในรอบนี้เกิดขึ้นในวงกว้างทำให้การลดลงของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ไม่สามารถถูกชดเชยได้ด้วยการเพิ่มการจ้างงานในภาคเกษตรและภาคบริการเหมือนในอดีต
3.ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อตลาดแรงงานมากขึ้น ทั้งการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูง ที่ตลาด แรงงานไทยยังประสบปัญหาทักษะไม่ตรงกับความสามารถของตลาด รวมทั้งระบบการศึกษาที่ขาดการพัฒนาทักษะแห่ง อนาคตให้กับแรงงานรุ่นใหม่ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ ขณะที่มีการทดแทนแรงงานด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการผลิตในประเทศที่ถูกทดแทนด้วยสินค้าจากต่างประเทศ ผ่านการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อทั้งรายรับของผู้ประกอบการและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ฝ่ายวิจัยระบุว่า รายได้ที่ลดลงและความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชน โดยการจ้างงานที่อาจหดตัวได้ถึง 3-4% และจะทำให้การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนปี 63 ลดลงประมาณ 0.2-0.3% หรือจะกระทบอัตราการเติบโตของ GDP ได้มากถึง 0.15% รวมทั้งกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในระยะต่อไป นอกจากนี้ บัณฑิตจบใหม่ที่ประมาณการว่าจะมีนักศึกษาจบใหม่ที่พร้อมหางานในช่วงกลางปี 63 ราว 341,000 คน อาจประสบปัญหาในการหางาน ในภาวะที่ภาคธุรกิจหยุดการจ้างงานใหม่เพื่อควบคุมต้นทุน ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 ที่ศึกษามาในสายวิชาชีพหรือเทคโนโลยีใหม่ ที่ภาคธุรกิจมีแนวโน้มรับเข้าทำงานมากกว่ากลุ่มอื่น.