รายงานพิเศษ
คงจะเห็นแล้วว่าปีนี้และปีหน้าภาพนักธุรกิจด้านพลังงานไทยเริ่มส่งสัญญาณหันไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เรียกว่าแต่ละรายไปต่อไม่รอ (PDP ฉบับใหม่) แล้ว
เพราะอนาคตด้านพลังงานไทยยังไม่มีท่าทีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ในระยะนี้แน่นอน เป็นเหตุไฟฟ้าในประเทศล้น
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายสารัชถ์ รัตนาวะดี” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ถึงทิศทางการลงทุนธุรกิจพลังงานทั้งในและต่างประเทศ
อาณาจักร “กัลฟ์ฯ”
ตามที่ได้ปรากฏภาพก่อนหน้านี้ กัลฟ์ฯได้เจรจาร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 340 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับนักธุรกิจเวียดนามสำเร็จในเดือนสิงหาคม 2561 โครงการดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายหุ้นและสัญญาผู้ถือหุ้นกับนักธุรกิจเวียดนามที่มีชื่อว่า นางฮวิน บิค ง็อค นักธุรกิจขนาดใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจพลังงาน ทำให้ปัจจุบันกัลฟ์ฯได้มีการลงทุนโรงไฟฟ้า 33 โรงใน 3 ประเทศ มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 11,910 เมกะวัตต์
โดยมีลูกค้าตามกำลังผลิตในประเทศ กฟผ. 88% แบ่งเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 4 โรง ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3 โรง และธุรกิจอื่นโดยมีพันธมิตร อาทิ WHA มิตซุย เป็นที่แน่ชัดว่าในปีหน้าจะเห็นภาพการเติบโตจากการลงทุนในประเทศ เป้าหมายทั้งโอมานและเวียดนาม และยังคงต้องจับตาการลงทุนของกัลฟ์ฯในอีกหลายประเทศ
บอร์ดไฟเขียวหุ้นกู้หมื่นล้าน
ล่าสุดในการประชุมผู้ถือหุ้น GULF ครั้งที่ 1/2562 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บอร์ดได้อนุมัติให้บริษัทออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท อายุ 10 ปี โดยจะนำส่วนหนึ่งไปไถ่ถอนหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอนกลางปีหน้าราว 6 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะนำมาใช้เพื่อการลงทุนอื่น ๆ โดยเฉพาะการลงทุนต่างประเทศ เน้นไปที่ประเทศโอมานมูลค่า 483 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ กำลังผลิตติดตั้ง 326 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565
ปักหมุดเวียดนาม
ที่สำคัญ บริษัทมองถึงโอกาสการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้ากลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงสร้างโรงไฟฟ้าที่เวียดนามอีก 4 โครงการ โดยตั้งเป้าว่ารายได้ในปี”62 จะเติบโต 60% ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ 2 หมื่นล้านบาท
ปัจจัยหลักจะมาจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ใหม่ที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) 5 โรง กำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าในประเทศ 4 โรงใน 3 จังหวัด (สระบุรี ระยอง โคราช) และโรงไฟฟ้าในเวียดนามอีก 2 โรง เท่ากับว่าจะดันกำลังการผลิตปีหน้าสูงขึ้น เป็น 2,667 เมกะวัตต์ จากปีนี้ที่ 2,200 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ในปีนี้และในปีหน้า บริษัทมองเห็นโอกาสในการลงทุนใน CLMVต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโรงไฟฟ้าในเวียดนาม เมียนมา และ สปป.ลาว ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุน คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี”62 ซึ่งบริษัทได้เตรียมงบฯลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2561-2565) มูลค่า 3-4 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าใหม่จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) กำลังผลิต 5,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า SPP 3 โรง กำลังผลิต 120 เมกะวัตต์/โรง
“ค่าไฟตกไม่มีผลต่อการลงทุนปีหน้า ซึ่งยอดจะโตจากโรงไฟฟ้าเวียดนาม แต่โครงการต่างประเทศจะเน้นการลงทุนในเวียดนามเป็นพิเศษ ทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มและลม ที่ประเทศเวียดนามน่าสนใจที่สุดเพราะเศรษฐกิจมีการขยายตัวมาก และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ เพราะฉะนั้น คงไม่จำเป็นต้องรอ PDP”
รอ PDP ฉบับใหม่
ส่วนแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศไทย กัลฟ์ฯยังมีแผนจะขยายโรงไฟฟ้าในประเทศต่อเนื่องจนถึงปี 2567 แต่ยังต้องรอแผน PDP ฉบับใหม่ออกมาอย่างชัดเจนก่อน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี”62 จึงจะเห็นภาพการลงทุนในประเทศไทยที่ชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า ประกอบกับการที่บริษัทเข้าซื้อซองประกวดราคาโครงการลงทุนของภาครัฐในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 นั้น อยู่ระหว่างพิจารณาศึกษาโอกาสในการลงทุนในพื้นที่ EEC เท่านั้น จึงยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะเข้าไปลงทุนหรือไม่อย่างไร
แต่ทั้งหมดนี้ฟันธงได้ว่า รายได้ในช่วง 3-5 ปีจากนี้จะเห็นการเติบโต 2 หลักเรื่อย ๆ ถึงในปี”64 บริษัทจะมีรายได้แตะ 5 หมื่นล้านบาท
ข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ