สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรดันมาตรฐาน TFCC รับรองผลิตภัณฑ์จากไม้เศรษฐกิจ ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาไม้ ดีเดย์ มี.ค. 62 หวังตอบโจทย์ผู้นำเข้าทั้งเอเชีย-ยุโรป สกัดไม้เถื่อนไม่มีแหล่งที่มาบุกรุกป่า กระตุ้นยอดค้าทะลุ 1 แสนล้านบาท
นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร กล่าวว่า สถาบันอยู่ระหว่างผลักดันมาตรฐานการรับรองไม้เศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากไม้เศรษฐกิจ (Thailand Forest Certification Council : TFCC) ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกันพิจารณาขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐาน Programme for the Endorsement of Forestry Certi-fication หรือ PEFC ของยุโรปซึ่งเป็นมาตรฐานสากล
“การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้จะต้องไม่ใช่ไม้ที่มาจากการบุกรุกป่า และจะต้องบอกแหล่งกำเนิดสินค้าให้ได้ มาตรฐานนี้จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการผู้ส่งออกในการออกใบรับรอง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ส่วนใหญ่ผู้ส่งออกจะขอใบรับรองจากสิงคโปร์ เพื่อใช้สำหรับส่งออกไปตลาดสหรัฐ ยุโรป ซึ่งยังมีต้นทุนสูง ยิ่งปัจจุบันตลาดนี้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีประเทศผู้นำเข้า นำมาตรฐานนี้มาใช้มากขึ้น เช่น จีน ญี่ปุ่น หากไทยยังไม่มีการรับรองมาตรฐานจะยิ่งลดขีดความสามารถการแข่งขัน หากมีมาตรฐาน TFCC เชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ เพราะในปัจจุบันการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้มีมูลค่ามากถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี”
ขณะนี้คณะทำงาน PEFC อยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบข้อมูล เอกสาร ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อพิจารณารับรองมาตรฐาน TFCC ของสถาบันต่อไป คาดว่าในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2562 จะพิจารณาแล้วเสร็จในการรับรองมาตรฐานดังกล่าวก่อนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ซึ่งอยู่ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยตั้งมาได้ 3 ปี เป้าหมายนั้นเพื่อต้องการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของไทยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสิ่งแรกที่สถาบันผลักดัน คือ การออกมาตรฐาน TFCC สำหรับผลิตภัณฑ์จากไม้ขึ้น ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกไม้เศรษฐกิจมากขึ้น
“การที่สถาบันผลักดันมาตรฐานนี้ก็จะช่วยให้ผู้ส่งออกไม่ต้องไปขอใบรับรองจากต่างประเทศ เนื่องจากเราสามารถออกใบรับรองได้เอง ซึ่งเป็นใบรับรองที่ได้รับการยอมรับในสากลจากประเทศผู้นำเข้า ซึ่งใบรับรองดังกล่าวนี้จะออกโดยสถาบันเอง เชื่อว่าต้นทุนและระยะเวลาในการออกใบรับรองนั้นก็จะรวดเร็วที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ส่งออกได้มากขึ้น และอนาคตยังพบว่าไม่ใช่เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มาจากไม้จะต้องมีการรับรอง แต่สินค้าที่เกี่ยวข้องที่นำมาใช้ก็ต้องมีการรับรองอย่างถูกต้องอีกด้วย โรงเลื่อย สินค้าจากชีวมวล หรือแม้กระทั่งยางไม้ที่นำมาใช้ในการผลิตหรือเป็นส่วนผสมในการทำผลิตภัณฑ์จากไม้ก็ต้องมีการรับรองด้วย”
นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า หากไทยประกาศใช้มาตรฐาน TFCC อย่างเป็นทางการก็จะถือเป็นประเทศ 1 ใน 5 ของประเทศอาเซียนที่มีมาตรฐานรับรองเพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ จากปัจจุบันมีอินโดนีเซีย มาเลเซียมีมาตรฐานเป็นของตัวเอง เพื่อการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากไม้เพื่อการส่งออกแล้ว ซึ่งเชื่อว่ามาตรฐานของไทยประกาศใช้จะช่วยทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ของไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีมูลค่าการค้ากว่า 1 แสนล้านบาท