หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม อนาคต 5G ปี”63 ไม่ง่าย คลื่นแพง-นโยบายไม่เอื้อ

อนาคต 5G ปี”63 ไม่ง่าย คลื่นแพง-นโยบายไม่เอื้อ

1842
0

2563 คือ ปีที่ทั้งรัฐบาล และ “กสทช.” ปักธงจะให้มี 5G ใช้ในไทย แต่เวลานี้ 3 ค่ายมือถือ เอไอเอส ดีแทค และทรู ประสานเสียงว่า “ราคาคลื่นที่แพงและนโยบายการกำกับดูแลของภาครัฐเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้ 5G เกิดขึ้นได้”

เอไอเอส และทรู ขอทดลองทดสอบ 5G บนคลื่น 26 GHz แล้ว โดยบอร์ด กสทช.จะพิจารณา 22 พ.ย.นี้

“เอไอเอส” ใช้อุปกรณ์ “โนเกีย-ซีเมนส์” ทดลองในพื้นที่ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ส่วน “ทรู” ใช้ “หัวเว่ย” ทดลองใน่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ (22 พ.ย. 2561-15 ธ.ค. 2561)

“วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส กล่าวในงาน 5G จุดเปลี่ยน landscape เศรษฐกิจ-การเมืองไทย จัดโดยกลุ่มบางกอกโพสต์ว่า 5G เป็นเทคโนโลยีที่ประเทศชั้นนำตั้งเป้าจะเปิดให้บริการในปี 2562 ส่วนไทยจะเกิดเมื่อใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เนื่องจาก 4G เป็นเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภค ส่วน 5G สำหรับอุตสาหกรรม จึงต้องมองว่า อุตสาหกรรมพร้อมแค่ไหน

“ประเทศที่จะเปิดให้บริการปีหน้า ล้วนเป็นผู้ผลิต ขณะที่ไทยเป็น buyer ฉะนั้นต้องลงทุนอย่างฉลาด ต้องทดลองทดสอบกรณีศึกษา 4G ยังไม่อิ่มตัวยังโตได้เรื่อย ๆ ขณะที่ความถี่ที่ต้องใช้ 5G ต้องคุยกันว่าจะนำมาใช้อย่างไร ต้องไม่ซ้ำรอย 4G”

ด้าน “วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า 5G เป็นแรงผลักดันให้เกิดบริการใหม่เป็นจุดเปลี่ยนในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งเฮลท์แคร์ โรงงาน รวมถึงภาคการผลิตจะเป็นส่วนสำคัญที่ 5G เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“ความท้าทายที่จะทำให้ 5G เดินหน้าได้หรือไม่ได้ อยู่ที่ผู้ลงทุน คลื่น 100 MHz เพื่อรองรับมีหรือไม่ ตอนนี้คลื่นไม่พอ นโยบายการกำกับดูแลไม่รองรับ รัฐบาลจีนปักธงเลยว่า 5G จีนต้องแซงอเมริกา จึงให้ใช้คลื่น 160 MHz ฟรี เพราะ 5G ทำให้ฐานเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ไทยก่อนนี้ประมูล 10 MHz เป็นเงิน 7.6 หมื่นล้าน ถ้าต้องใช้คลื่น 100 MHz ต้องจ่ายถึง 7.6 แสนล้าน ถ้าเป็นแบบนี้ ฝันไปเถอะ 5G ไม่เกิดแน่”

ขณะที่ “อเล็กซานเดอร์ ไรซ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า 5G ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ไม่ใช่แค่คลื่น แต่ต้องลงทุนทรานส์มิสชั่นอุปกรณ์ต่าง ๆ อีกมาก จึงต้องหาแนวทางที่จะลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดก่อนตัดสินใจลงทุน อาทิ ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อแชร์ใช้อินฟราสตรักเจอร์ ซึ่งหวังว่าภาครัฐจะเห็นปัญหา โดยเฉพาะค่าประมูลคลื่นที่มีราคาแพงมาก

“ด้วยโครงข่ายเดิมของดีแทคพร้อมรองรับ 5G แต่ยังไม่ได้ยื่นขอทดลองทดสอบ เพราะกำลังมองหาเคสที่จะนำมาใช้งานได้จริง ดีแทคมองไว้ว่าน่าจะนำมาต่อยอดในส่วนสมาร์ทซิตี้ และเกษตรอัจฉริยะจึงอาจจะเริ่มต้นปี 2562”

ฟาก “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การผลักดันให้ไทยมี 5G ใช้ในปี 2563 ทำให้เกิดขึ้นได้ โดยภาครัฐต้องสร้างกฎกติกา การกำกับดูแลที่เอื้อให้เกิด แล้วปล่อยให้กลไกตลาดเป็นผู้กำหนดการลงทุนเอง

“สำคัญคือจะเอามาใช้ทำอะไร ไม่มี 5G คอขาดบาดตายไหม ระยะยาวสำคัญ แต่ระยะสั้นยังมีเทคโนโลยีอื่นใช้แทนได้จึงต้องชัดเจนว่า 5G จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับโอเปอเรเตอร์ด้วย เพราะ 4G ลงทุนไปหนักมาก แต่เรื่องการใช้คลื่นได้ฟรีเหมือนที่รัฐบาลจีนให้ไชน่าโมบาย ไม่เห็นด้วย เพราะไชน่าโมบายคือรัฐวิสาหกิจ การสนับสนุนของรัฐบาลจึงเป็นแค่เงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา ส่วนประเทศอื่นที่เปิด 5G เร็ว ล้วนเป็นผู้ผลิตจะได้เปรียบเรื่องขายของ แต่ไทยคือผู้บริโภค และต้องประมูลคลื่น เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีเป็นธรรมและถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปจ่ายเงินเพื่อเรียกคืนเหมือนที่ กสทช.จะทำ”

และควรเริ่มสรรหากรรมการ กสทช.ชุดใหม่ก่อนเลือกตั้ง เพราะถ้าปล่อยให้บอร์ดชุดปัจจุบันรักษาการไปเมื่อมีรัฐบาลใหม่จะยกเลิกคำสั่ง คสช.ต้องออก พ.ร.บ. ขณะที่การให้บอร์ดรักษาการผลักดันประเด็นสำคัญทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องความชอบธรรม

“รัฐไม่ควรสร้างอุปสรรคเทียม อาทิ ต้องมีผู้ถือหุ้นไทยเกินครึ่ง 5G ควรเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างโทรคมนาคม ให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่มีแค่ 3 ราย กฎระเบียบต้องคุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองข้อมูล โปร่งใสเป็นธรรม ซึ่งตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ