ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 อยู่ในระดับ 69.1 ประชาชนยังห่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว โอกาสหางานทำ รวมถึงรายได้ในอนาคต
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2562 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,242 คน พบว่า อยู่ที่ระดับ 69.1 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ตั้งแต่เดือนมียาคม 2562 ที่ผ่านมาที่อย่ระดับ 84.4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 67 เดือนนับตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2559 โดยดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวทุกรายการ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต โดยรวมไปถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแยกตามภูมิภาค
สำหรับปัจจัยสำคัญที่กระทบดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวลดลง 2.6% จากคาดการณ์ 3% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ขยายตัวได้ 1% โดยมีปัจจัยเสี่ยงจาก สงครามการค้า การส่งออกไม่ดี ค่าบาทแข็งค่า การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวอยู่ระดับต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ระดับราคาน้ำมันขายปลีกไม่ปรับขึ้น ขณะที่ การคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 สภาพัฒน์ คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.7-3.7% หรือค่ากลางอยู่ที่ 3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การลงทุนภาครัฐและเอกชน การส่งออกดีขึ้นขยายตัว 2.3% ค่าเงินบาทไม่แข็งค่า
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องของเบร็กซิต กรณีที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกกร (GSP) ของสินค้าไทย จำนวน 573 รายการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 25 เมษายน 2563 ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต อีกทั้ง ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว กังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยกระทบต่อความเชื่อมั่น ส่วนปัจจัยบวก การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของการใช้จ่ายของภาครัฐและประชาชน เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงสะท้อนว่าคนไม่ไว้วางใจเศรษฐกิจว่าจะฟื้นตัว ซึ่งหากสถานการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องยาวถึง 1 ปี หรือเกินเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยแน่นอน อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัว 2.6% ขณะที่ปี 2563 จะขยายตัว 3.1% ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 65.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 85.6 ดัชนีความเหมาะสมการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว อยู่ที่ระดับ 54.7 ดัชนีความเหมาะสมการลงทุนทำธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 24.4 เป็นต้น