เทรนด์การใช้พลังงานเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานทดแทนในรูปแบบของพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะผู้ทำหน้าที่ “เรกูเลเตอร์” กิจการไฟฟ้าประเทศ จึงได้ปรับบทบาทองค์กร ชูแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี พร้อมกับเร่งพัฒนาระบบกิจการพลังงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
อัดงบฯ 5 ปี 5,000 ล้านบาท
นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) กล่าวว่า กกพ.เตรียมงบประมาณพัฒนายุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2563-2567) วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามกลยุทธ์พัฒนาระบบการกำกับให้ผู้ประกอบการใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการพลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็นวงเงิน 2,000 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาเป็นการดำเนินงานตามกลยุทธ์พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ วงเงิน 1,000 ล้านบาท คิดเป็น 20% และกลยุทธ์ส่งเสริมการใช้ประโยชน์และพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน วงเงิน 1,000 ล้านบาท และงบฯลงทุนวิจัย ประมาณ 1,000 ล้านบาท
ส่วนปี 2562 ที่ผ่านมา นอกจาก กกพ.ได้สนับสนุนส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม อาทิ พลังงานหมุนเวียน โซลาร์ประชาชน ยังเน้นปรับบทบาทและแผนเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า เพื่อรองรับดิสรัปต์ในอนาคต โดยจะเน้นพัฒนารูปแบบตลาด ซื้อ ขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ แบบครบวงจร peer to peer energy trading รวมถึงโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (energy regulatory commission sandbox : ERC sandbox) ทั้งเพื่อเพิ่มศักยภาพและใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและเพื่อรักษาค่าไฟฟ้าประชาชน
“peer to peer จะเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์โลก รวมถึงการทำแซนด์บอกซ์จะเป็นโมเดลในการพัฒนาไปยังโครงการสำคัญของประเทศ เราให้สถานศึกษาหรือผู้ประกอบการเสนอโครงการเข้ามาศึกษาร่วมกันแล้วนำร่องในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และการนำเข้าแอลเอ็นจีโดยเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้มากขึ้น”
ขณะที่งบฯกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจะแยกกันคนละส่วน ซึ่งเงินดังกล่าวหากเหลือหรือการจัดซื้อจัดจ้างน้อยกว่าที่กำหนดก็จะมีการส่งคืนเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งที่ผ่านมามีการสะสมและส่งคืนอยู่ที่ 500-600 ล้านบาทต่อปี โดยแผนการดำเนินงานดังกล่าว กกพ.ได้ทบทวนจากแผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานเดิมที่ใช้ดำเนินการในปี 2561-2564 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป
ปรับแผนรับ “พลังงานสะอาด”
นายชาญวิทย์ฉายภาพให้เห็นว่า กกพ.จะมุ่งเน้นไปที่การทบทวนแผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2561-2564 ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ประกอบกับแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ตลอดจนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (พ.ศ. 2561-2580) โดยเฉพาะทุกประเทศเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เเน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อกิจการพลังงานทุกรูปแบบ รวมถึงไทยได้ให้สัตยาบันตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP-21) กว่า 25% ดังนั้น เทรนด์ของพลังงานในอนาคตจะเน้นไปให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนในรูปแบบของพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น
และปรับลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลให้กระจายชนิดเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ภายใต้แผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (AEDP 2018) คาดว่าจะมีสัดส่วนที่ร้อยละ 30 เพื่อให้สอดรับแผน PDP และเทรนด์พลังงานโลกในอนาคตปี”63 จับตาพลังงานโลก
น.ส.นฤภัทร์ อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า สำหรับทิศทางค่าไฟปลายปี และปี 2563 นั้นยังคงต้องติดตามราคาน้ำมันที่จะมีผลสะท้อนมายังราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า แต่ภาพรวมยังไม่มีผลกระทบต่อราคาค่าไฟ
ส่วนแผนการดำเนินงานที่ปรับบทบาทดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าในราคาคงที่หรือถูกลง แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ “นโยบายรัฐ” ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้
ตรึงค่าไฟฟ้า ม.ค.-เม.ย. 63
กกพ.ประเมินว่า เทรนด์พลังงานสะอาดจำเป็นต้องเพิ่มด้วยสภาวะอากาศและปริมาณกำลังผลิตที่ลดลงด้วย ซึ่งปีหน้ามองว่าสถานการณ์กำลังผลิตภาพรวมพลังงานของโลก อาทิ ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ลดลงมากแค่ไหนก็ยังประเมินว่าไม่ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ในปี”63 อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) เดือน ม.ค.-เม.ย. 63 ยืนยันว่าไม่มีการปรับขึ้นเพื่อไม่เป็นภาระประชาชน
อย่างไรก็ตาม กกพ.อยู่ระหว่างปรับแผนให้สอดรับกับนโยบายรัฐ คาดว่าภายในเดือน ธ.ค. 62 นี้จะเริ่มเห็นความชัดเจนของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2018 โดยไฮไลต์สำคัญการปรับหลักเกณฑ์ การรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชน พลังงานทดแทน โซลาร์ประชาชน และโรงไฟฟ้าขยะ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมา