หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม “ซี.พี.แลนด์” 6 ปีที่รอคอย เปิดหน้าดิน 3,000 ไร่ ฮับ EEC

“ซี.พี.แลนด์” 6 ปีที่รอคอย เปิดหน้าดิน 3,000 ไร่ ฮับ EEC

1993
0

ที่ดินผืนใหญ่กว่า 3,000 ไร่ ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนาและ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ของ “บมจ.ซี.พี.แลนด์” บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใต้ปีกเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ที่ใช้เวลา 30 ปี ซื้อเก็บสะสมจนกลายเป็นผืนเดียวกัน ปัจจุบันตั้งอยู่ในทำเลที่มีจุดเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมล้อมรอบ ทั้งถนนสายหลัก 4-6 ช่องจราจร ห่างจากสนามบินอู่ตะเภา 35 กม. สนามบินสุวรรณภูมิ 145 กม. ท่าเรือมาบตาพุด 16 กม. ท่าเรือแหลมฉบัง 60 กม. สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา 35 กม.

ล่าสุดที่ดินถูกนำมาพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน บนพื้นที่ 3,068 ไร่ มีชื่อว่า “ซีพีจีซี” เป็นการร่วมทุนระหว่าง ซี.พี.แลนด์กับบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด รัฐวิสาหกิจจากมณฑลหนานหนิงของประเทศจีน วงเงิน 3,500 ล้านบาท สัดส่วน 50:50 จัดตั้งบริษัท ซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ขับเคลื่อนโครงการ รับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่โครงการได้รับสิทธิพิเศษพัฒนาอย่างเต็มที่

ขณะนี้นิคมแห่งนี้กำลังเป็นรูปเป็นร่าง หลังใช้เวลาร่วม 6 ปีผลักดันในการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองรวมใหม่ จนมาสำเร็จเมื่อปีที่ผ่านมา หลังรัฐบาลประกาศ จ.ระยองเป็นเขตเศรษฐกิจอีอีซี ทำให้กฎเหล็กที่ค้างคาถูกคลายลงโดยปริยาย

“สุนทร อรุณานนท์ชัย” ประธานกรรมการ บริษัท ซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการนี้ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 8,800 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในปี 2562 เปิดขายพื้นที่ภายในไตรมาส 2 ของปี 2562 เนื่องจากต้องรอการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประกาศเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมและอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ขณะนี้ออกแบบโครงการเสร็จแล้วเตรียมจะยื่นขออนุมัติโครงการ

“หลังรอมา 6 ปี วันนี้นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เราเคลียร์ทุกอย่างแล้ว ทั้งผังเมืองรวมที่ปรับสีการใช้ประโยชน์ที่ดินจากสีเขียวเป็นสีม่วง ขั้นตอนการดำเนินงานเงื่อนไขทุกอย่างร่วมกับ กนอ.เสร็จแล้ว รออีไอเออย่างเดียว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จะเริ่มก่อสร้างปีหน้าและเปิดพัฒนาในปี 2563”

การที่ ซี.พี.แลนด์ลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเนื่องจากมองเห็นโอกาสและที่ดินแปลงดังกล่าวก็อยู่ในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นจุดที่เหมาะกับการลงทุน ซึ่งบริษัทเตรียมตัวมาหลายปีโดยพื้นที่พัฒนาเบื้องต้นวางไว้ที่ประมาณ 3,000 ไร่ จะพัฒนาให้เต็มพื้นที่ มีพื้นที่อุตสาหกรรม 2,205 ไร่ พาณิชยกรรม 112 ไร่ พื้นที่สีเขียว 309 ไร่ และสาธารณูปโภค 443 ไร่ จะเลือก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve กับ new S-curve) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตามที่รัฐบาลไทยประชาสัมพันธ์มาลงทุนภายในประเทศ เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ครบวงจร คาดว่ามีบริษัทจากจีนประมาณ 100 แห่งจะมาลงทุน แต่อาจจะใช้พื้นที่ไม่มาก ประมาณรายละ 10 ไร่ขึ้นไป

ขณะนี้ได้เซ็นบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ 3 องค์กรใหญ่ของจีน คือ 1.สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เป็นการร่วมมือด้านโนว์ฮาวและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมของประเทศจีนที่ใช้เทคโนโลยีสูงมาลงทุน

2. บริษัท ไชน่า เอ็นเนอร์จี้ เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป สนใจจะลงทุนด้านธุรกิจพลังงาน และ 3.บริษัท CAS ION MEDICAL TECHNOLOGY ECONOMIC AND COMMERCIAL COUNSELOR ที่สนใจจะลงทุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ระบบตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และระบบการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น

“การลงทุนทางจีนจะพิจารณาต่อไป เพราะจีนเป็นคนทำตลาด กำหนดราคาขายและเช่า ทาง ซี.พี.แลนด์จะเป็นผู้ก่อสร้างและบริหาร จีนบอกว่า มีผู้สนใจจะมาลงทุนในนิคม 20-30 ราย เป็นหน่วยงานที่ประกอบกิจการตามนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลไทยทั้งหมด แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญากัน ส่วนการร่วมมือกับกลุ่มอื่น เช่น อาลีบาบา ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ร่วมมือกัน ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ก็มีการคุยกันบ่อยครั้งและให้ความสนใจในทุกประเภทงาน เราคุยได้ทั้ง 3 ปาร์ตี้”

นายสุนทรกล่าวว่า ยังมีพื้นที่ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 100 ไร่ ที่จะนำมาพัฒนากิจการอื่น ๆ รองรับกับนิคมอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ ศูนย์การเรียนรู้ รวมถึงอาจจะซื้อที่ดินเพิ่ม

“บริเวณตรงข้ามกับนิคมมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตระยอง ทำให้ได้รับโอกาสถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีน เพราะมีเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดในระดับโลกอยู่แล้ว คาดว่า 2-3 ปีจะเริ่มเห็นรูปร่าง โดยการร่วมลงทุนครั้งนี้จะต้องทำให้จีนเห็นว่า การลงทุนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะทำให้เรามีชื่อเสียง ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาเพิ่ม”

ส่วนแผนการพัฒนาเมืองใหม่มารองรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภา นายสุนทรกล่าวว่า ซี.พี.แลนด์ยังไม่มีแผนลงทุนอะไร แต่เชื่อว่าบริษัทอื่นในเครือ ซี.พี.น่าจะมีแผนพัฒนาอยู่ ถึงจะไม่มีโครงการพัฒนามารองรับ แต่หลายคนคาดว่านิคมอุตสาหกรรมซีจีพีจีจะได้รับอานิสงส์จากการปรับแนวรถไฟความเร็วสูงจะสร้างจากอู่ตะเภา-ระยองที่บอร์ดอีอีซีอนุมัติให้เบี่ยงแนวหลบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างพิจารณาแนวเส้นทางขยับขึ้นไปทางถนนหมายเลข 36 ดูจากระยะห่างมีแนวโน้มจะเข้าไปใกล้กับที่ดิน ซี.พี.ไม่มากก็น้อย