บอร์ดอีอีซีไฟเขียวโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เตรียมชงเข้าครม. 28 พ.ค. คาดลงนามในสัญญาได้วันที่ 15 มิ.ย.2562 ส่วนโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 คาดเสนอ ครม. เพื่อขอปรับเงื่อนไขให้เอกชนที่ชนะประมูล เป็นผู้ลงทุนถมทะเล 10,000 ล้านบาท สัปดาห์หน้า
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวภายหลัง การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณา และรับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
โดย “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” นั้นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP จากการพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ เพราะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอด้านการลงทุน ผลตอบแทนที่ผ่านการพิจารณา และบรรลุข้อตกลงในการเจรจา
ซึ่งบอร์ด EEC ได้รับทราบผลการคัดเลือก การเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ กับเอกชนที่ได้คัดเลือกดังกล่าว ในวันที่ 28 พ.ค.2562 และอาจสามารถลงนามในสัญญาได้ในวันที่ 15 มิ.ย.2562 ขึ้นอยู่กับการส่งมอบพื้นที่และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะแล้วเสร็จหรือไม่
ขณะที่และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ซึ่งขณะนี้ได้เอกชนลงทุนเรียบร้อยแล้ว คือ กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ (บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเมนท์-บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินอล) ซึ่งยื่นประมูลเพียงรายเดียว โดยสัปดาห์หน้า (22 พ.ค.2562) คาดว่าจะเสนอ ครม. เพื่อขอปรับเงื่อนไขให้เอกชนที่ชนะประมูล เป็นผู้ลงทุนถมทะเล 10,000 ล้านบาท ซึ่งคิดดอกเบี้ย 2.5% ตลอด 30 ปี โดย กนอ.จะทยอยคืนเงินให้ 600 ล้านบาท/ปี เป็นคืนเงินให้ 720 ล้านบาท/ปี คิดดอกเบี้ยที่ 4.8%
โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งขณะนี้ยังคงดำเนินตามกระบวนการคัดเลือกตามปกติ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการคัดเลิก ได้เปิดพิจารณาซองที่ 1 (คุณสมบัติ) ของทั้ง 3 กลุ่มที่ยื่นซองแล้ว และเรียกเอกสารเพิ่มเติมจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ในการพิจารณา จากนั้นจะเปิดซองที่ 2 (เทคนิค) ต่อไป
ส่วนกรณีที่ กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับมติและคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนนั้น วันที่ 16 พ.ค.2562 ในนามของคณะกรรมการฯ จะเข้าชี้แจงต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งก็ต้องรอการตัดสินว่า ศาลตีความว่าการล่าช้าของการยื่นซองเอกสารเกิน 15.00 น. นั้น ถือว่าล่าช้าหรือไม่ คาดลงนามในสัญญาลงทุนกับเอกชนได้ใน มิ.ย. นี้ ในระหว่างนี้กระบวนการพิจาณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะยังเดินหน้าพิจารณาตามปกติเช่นเดียวกันกับโครงการท่าเรือแหลมฉบับ ระยะ 3
ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) การบินไทยและแอร์บัส จะมีประชุมความคืบหน้าในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค.2562) ซึ่งคาดว่าจะช้ากว่ากำหนด 1 เดือร หรือสามารถลงนามในสัญญาลงทุนกับเอกชนได้ใน มิ.ย. นี้
นอกจากนี้ที่ บอร์ด EEC ยังเห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน โครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ใน พื้นที่ EEC (Thailand Genome Sequencing Center) โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันวางกรอบการลงทุนไว้ที่ 1,500 ล้านบาท เพื่อให้ไทยเป็น Medical Hub ขณะที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เสนอแผน พัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุน ใน EEC ภายในปี 2566 จะมีบุคลากรที่ได้รับการพัฒนากว่า 180,000 คน