“แคร์รี แลม” เยือนไทยลงนามเอ็มโอยู พร้อมขอบคุณไทยเป็นมิตรที่ดีแม้อยู่ในภาวะความขัดแย้ง ด้าน “สมคิด” ตั้งเป้ามูลค่าการค้าไทย-ฮ่องกง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563
วันนี้ (29 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนางแคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นประธานการประชุมระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 1
ภาพจาก www.thaigov.go.th
นายสมคิด กล่าวว่า การเยือนไทยครั้งนี้ของนางแคร์รี แลม เป็นโอกาสที่ดีให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้สานต่อสิ่งที่ได้เคยตกลงกันไว้ใน โดยเฉพาะในประเด็นที่ได้หารือกันในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area: GBA) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญภายใต้ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน
ซึ่งในช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีการประชุมระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการกำหนดแนวทางและเป้าหมายของความร่วมมือระหว่างกัน โดยที่ประชุมฯ เห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดังนี้
ภาพจาก www.thaigov.go.th
1.ด้านการค้าและการลงทุน ทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันว่า จะร่วมมือกันผลักดันให้มูลค่าการค้าไทยและฮ่องกงบรรลุเป้าหมาย 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตั้งเป้าไว้ เมื่อปี 2560 พร้อมทั้งเริ่มหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย – ฮ่องกง และการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนของภาคเอกชนให้ สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
2.ด้านการลงทุนและการโยกย้ายฐานการผลิต ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกัน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยน การเยือนและการร่วมกิจกรรมระหว่างกัน โดยมุ่งยกระดับศักยภาพของ ผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมถึงส่งเสริมการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการโยกย้ายฐานการผลิตของวิสาหกิจ ฮ่องกงมายังไทย
3.ด้านการเงิน ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ และตลาดทุนของกันและกันผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนชนิดใหม่ ๆ เช่น การลงทุน ในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านระบบ Depositary Receipt (DR) การท่า cross listing ระหว่างกันในหลักทรัพย์ตัวส่าคัญ ตลอดจนการทำ mutual recognition of funds และการส่งเสริมให้มีการลงทุนใน Real Estate Investment Trusts (REITs) เป็นต้น
นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมมือกันเสริมสร้างความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล การตลาด โดยเฉพาะการท่า regulatory mapping ซึ่งจะปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ ด้านการเงินใหม่ ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนสีเขียว (ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม)
4. ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะร่วมกันพัฒนาและเสริมสร้างในด้านภาพยนตร์ ละคร โฆษณา การออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของทั้งสองฝ่าย โดยจะมีมาตรการส่งเสริม การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือของผู้ประกอบการ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสนับสนุนให้ต่างฝ่ายต่างเข้าร่วมกิจกรรมของกันและกัน ซึ่งจะมีการจัดท่า แผนงานร่วมกันต่อไป
5.ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ทั้ง 2 ฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศของการพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้รับทราบถึงพัฒนาการที่เป็นรูปธรรม ระหว่าง Hong Kong Cyberport และ Innospace Thailand และ แสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวให้มีมากยิ่งขึ้น โดยจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การทำวิจัยร่วม การบ่มเพาะ Start-up ที่มีศักยภาพ และการมีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ Start-up เข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น
6.การผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะในด้านอาชีวศึกษาและการยกระดับทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตร และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ หรือ STEM นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่และการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในระดับ ประชาชน ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมกันตั้งเป้านักท่องเที่ยว 3 ล้านคน/ปี ภายในปี 2564
ภาพจาก www.thaigov.go.th
นางแคร์รี แลม กล่าวว่า รู้สึกยินดีในการมาเยือนประเทศไทย และได้มาประเทศไทยหลายครั้งแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและฮ่องกง ซึ่งการลงนามเอ็มโอยูครั้ง จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงและส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเครือข่ายธุรกิจ การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน การวิจัยและการศึกษาที่จะมีความร่วมมือต่อกัน
“ตอนนี้แม้ว่าฮ่องกงในภาวะความขัดแย้ง แต่ขอขอบคุณไทยที่เป็นมิตรที่ดีต่อกันมาโดยตลอด ขอย้ำว่าจะใช้จุดแข็งในการปกครองให้ฮ่องกงมีความเข้มแข็ง และจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อการแก้ปัญหา โดยเชื่อมั่นว่าฮ่องกงจะสามารถก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้”
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ รองนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงต่างๆ อีก 5 ฉบับ ได้แก่
1.บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับศูนย์การออกแบบฮ่องกง
2.บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง
3.บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับสหพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง
4.บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทยกับสหพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง
5.บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง