หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม จีนลดภาษีอีคอมเมิร์ซ9.1% SMEsไทยฉลุย-แนะบุกตลาดมณฑลรอง

จีนลดภาษีอีคอมเมิร์ซ9.1% SMEsไทยฉลุย-แนะบุกตลาดมณฑลรอง

1996
0

รัฐบาลจีนหั่นภาษีอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเหลือ 9.1% ดีเดย์ 1 เมษายน 2562 หวังกระตุ้นการค้าผ่านเส้นทาง One Belt One Road ตามนโยบาย “ซื้อทั่วโลก-ขายทั่วโลก” สบช่อง SMEs ไทยเจาะขุมทรัพย์ตลาดอีคอมเมิร์ซจีน 300,000 ล้านหยวน ด้านที่ปรึกษาสภาอุตฯ-รอง ปธ.สมาคมการค้าไทย-จีน แนะลุย 5 มณฑลเมืองรอง ใช้กลยุทธ์ “KOL” โปรโมตสินค้า

นายเซน หลี่ กรรมการผู้บริหาร บริษัท Britech (Thailand) จำกัด ในฐานะรองประธานสมาคมการค้าเอสเอ็มอีไทย-จีน และที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้รัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับประเทศตามเส้นทาง One Belt One Road (OBOR) ด้วยการมุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาคเอกชน “ทำการซื้อทั่วโลก เพื่อขายไปทั่วโลก” พร้อมทั้งออกมาตรการกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการออกมาตรการส่งเสริมการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ

โดยรัฐบาลได้ลดภาษีการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (e-Commerce Cross Broder Tax) เมื่อต้นปี 2562 เหลือ 11.2% จากเดิมที่เรียกเก็บ 11.9% และล่าสุดได้ลดลงไปอีกรอบเหลือ 9.1% มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมานี้ ตลาดอีคอมเมิร์ซในจีนมีขนาดใหญ่มาก มูลค่าตลาดตอนนี้ประมาณ 300,000 ล้านหยวน หรือ 1.5 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก จากปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 57% ของจำนวนประชากรจีน เทียบกับตลาดสหรัฐ ซึ่งมีผู้ใช้ถึง 80% ของประชากร สะท้อนว่าตลาดจีนยังเติบโตได้อีก แต่ไม่ใช่ว่าสินค้าจากไทยจะเข้าไปทำตลาดจีนได้ง่าย

“จากประสบการณ์ทำธุรกิจและให้คำปรึกษาด้านการตลาดอีคอมเมิร์ซในจีนพบว่า SMEs ไทยให้ความสนใจตลาดจีนอย่างมาก ปีหนึ่ง ๆ มีผู้มารับคำแนะนำมากขึ้นเติบโต 100% อย่างปีที่ผ่านมาสามารถผลักดันสินค้าเข้าไปได้ 700-800 ล้านหยวน แต่หากเทียบสัดส่วนแล้ว ผู้ที่รุกตลาดอีคอมเมิร์ซ

จากไทยจะประสบความสำเร็จประมาณ 30% อีก 70% อยู่ในช่วงขาขึ้นกำลังเติบโต แต่ยังต้องดำเนินการต่อ ตลาดจีนทำยาก ขนาดอเมซอนก็เพิ่งปิดตัวในจีนไปเมื่อสัปดาห์ก่อน” นายเซน หลี่กล่าว

ทั้งนี้ ภาษี “e-Commerce Cross Broder Tax” ในประเทศจีน กำหนดให้เป็นการเรียกเก็บภาษีรวม ทั้งภาษีศุลกากร-ภาษีสรรพสามิต-ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งระบบของจีนต่างจากระบบภาษีอากรของประเทศไทย ที่จะไม่มีการกำหนดอัตราภาษีรวมในลักษณะนี้

นายหลี่กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาปัญหาที่ SMEs/ผู้ผลิตสินค้า OTOP ไทยรุกเข้าไปขายในจีนแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะ “การขายยังไม่ตรงใจคนจีน” กล่าวคือ แม้สินค้าบางรายการจะถ่ายรูปออกมาสวย สามารถอธิบายรายละเอียดสินค้าด้วยข้อมูลจำนวนมาก แต่นั่นยังไม่ใช่จุดโฟกัสที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้าจีน หรือสินค้า OTOP ของไทยยังออกแบบแพ็กเกจจิ้งไม่ทันสมัย ไม่ตรงกับความต้องการลูกค้าจีน ซึ่งเน้นรูปลักษณ์สินค้าที่ดูทันสมัยและหรูหรา เป็นต้น

ดังนั้น แนวทางการทำการตลาดอีคอมเมิร์ซในจีนแม้จะยังเปิดกว้าง แต่เอกชนไทยต้องรู้ว่า “เราควรจะไปเจาะมณฑลไหน เมืองใหญ่ไม่ต้องไปเลย ทั้งปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เพราะตลาดเหล่านี้กำลังซื้อสูง พวกเขามองสินค้าแบรนด์จากยุโรป หากจะซื้อสินค้าไทยก็สามารถเดินทางมาเองได้” ดังนั้น เอกชนไทยต้องมุ่งไปเจาะตลาดเมืองรอง เช่น มณฑลทางตอนกลาง ๆ ของประเทศ ประกอบด้วย ชานซี (Shanxi), ฉ่านซี (Shaanxi), เหอหนาน (Henan), อานฮุย (Anhui) และหูเป่ย์ (Hubei)

โดยมณฑลเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ทางตอนกลาง ๆ ของจีน หรือเป็นมณฑลที่ไม่ติดทะเล การเดินทางมาไทยก็ใช้เวลานาน ทำให้เข้าไม่ถึงสินค้าไทย เช่น เหอหนาน เมืองหลวงคือ เจิ้งโจว ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของจีน ต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว จำนวนประชากร 108 ล้านคน กำลังซื้อสูงพอสมควร รายได้เฉลี่ย 25,000-30,000 บาท/คน/เดือน และมีเที่ยวบินตรงมาประเทศไทยแค่สายการบินไทยสมายล์ กับไชน่าเซาเทิร์น ซึ่งใช้เวลาบินถึง 4-4.5 ชั่วโมง

ส่วนประเด็นที่ว่าเอกชนไทยควรทำแพลตฟอร์มใหม่หรือไม่นั้น นายหลี่กล่าวว่า “ผมไม่ได้แนะนำให้ทำแพลตฟอร์มอะไร” เพราะจีนมีแพลตฟอร์มเดิมที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้วถึง 2 แบรนด์ คือ JD.COM Tmall Alibaba แต่ลูกค้าจีนไม่เน้นการสู้กันด้วยราคา แต่เราต้องมีกลยุทธ์ เช่น เครื่องสำอาง กลุ่มลูกค้าจีนก็นิยมเหมือนคนไทย คือ ชอบครีมสำหรับผิวขาว ลบเลือนริ้วรอย แต่คนจีนไม่ชอบอะไรที่เกินจริง เช่น “ครีมเดียว ถ้าโฆษณาว่าทำได้ทุกอย่าง คนจีนไม่เชื่อ”