ทิศทางนโยบายของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือทียูในปีนี้ไม่มุ่งเน้นการซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) อย่างหวือหวา แต่เน้นการสร้างความคุ้มค่าในการลงทุน รักษาวินัยทางการเงิน ลดหนี้สินต่อทุน และมุ่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ การลงทุนในสตาร์ตอัพในสินค้าฟู้ดเทคและไบโอเทค ตลอดจนการสร้างความยั่งยืน จึงเห็นได้ชัดเจนว่าทียูได้ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด “ลีโอนาร์ดัช คูเลน” กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจ ingredients ผู้ดูแลการพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจการผลิตและผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด ของบริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปทั่วโลก ได้นำชมโรงกลั่นน้ำมันปลาบริสุทธิ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง”ไทยยูเนี่ยน Marine NutrientsGmbH” ที่เมืองรอสต๊อก ประเทศเยอรมนีซึ่งทียูลงทุนก่อสร้างด้วยงบประมาณ24 ล้านเหรียญสหรัฐ มีกำลังการผลิต5,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับ “น้ำมันดิบจากปลาทูน่า” ที่สกัดจากโรงงานสกัดของทียูที่ จ.สมุทรสาคร และขนส่งทางเรือมากลั่นเป็น “น้ำมันปลาทูน่าบริสุทธิ์” ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงตามมาตรฐานสากลที่โรงงานแห่งนี้
นายคูเลนกล่าวว่า หลังเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2562 มีคำสั่งซื้อ 250 ตัน เพื่อนำไปผสมในนมผง โดยวางเป้าหมายรายได้ในปีแรก800 ล้านบาท และในปีหน้ารัฐบาลอียูประกาศกฎระเบียบใหม่ให้เพิ่มส่วนผสม DHA ในนมผงทารกเป็น 2 เท่า ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปลาเพิ่มขึ้น บริษัทคาดว่าจะเพิ่มจนเต็มกำลังการผลิตได้ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คิดเป็น 25-30% ของตลาดโลก หากสำเร็จรายได้จากน้ำมันปลาทูน่าบริสุทธิ์ สูงกว่าน้ำมันปลาทั่วไป 5-10 เท่า โดยราคาน้ำมันปลาทูน่าบริสุทธิ์อยู่ที่ กก.ละ 12-15 เหรียญสหรัฐ ส่วนน้ำมันดิบปลาทูน่าอยู่ที่ กก.ละ 7-8 เหรียญสหรัฐ
“แม้ว่าจะมีคู่แข่งในโลกอยู่ 4-5 ราย แต่ทียูได้เปรียบเพราะมีซัพพลายเชนครบวงจรตั้งแต่ตั้นน้ำ-ปลายน้ำ สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณวัตถุดิบได้ เป็นเจ้าของวัตถุดิบหัวปลาทูน่าที่ใช้สกัดน้ำมันปลา 1 ใน 4 ของโลก และยังเป็นผู้ขายน้ำมันดิบของปลาทูน่าให้กับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ด้วย”
เนื้อกุ้งเลี้ยงจากฟีดไคนด์โปรตีน
นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือทียู ได้นำคณะเข้าร่วมงานบรัสเซลส์ ซีฟู้ด เอ็กซ์โป ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม2561 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยงานนี้ทียูร่วมกับบริษัท คาลิสตา เปิดตัวนวัตกรรม “เนื้อกุ้งที่เลี้ยงด้วยฟีดไคนด์โปรตีน” เพื่อตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน และการตรวจสอบย้อนกลับได้ เพราะไม่ต้องใช้ปลาป่น แต่ใช้จุลินทรีย์ที่ได้จากการหมักก๊าซธรรมชาติ ลดปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายไอยูยู ตอบโจทย์ลูกค้าตลาดยุโรป โดยขณะนี้เริ่มทดลองใช้เลี้ยงกุ้งในฟาร์มที่ จ.สตูล ยังต้องพัฒนาเพื่อลดข้อจำกัดด้านต้นทุน และช่วยให้กุ้งเติบโตเร็วขึ้น
แซลมอน-อาหารสัตว์ฉลุย
สำหรับผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน38-40% ของกลุ่ม สามารถพลิกกลับมาสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 11,529 ล้านบาทเนื่องจากยอดขายในสหรัฐเพิ่มขึ้น ยอดขายปลาแซลมอนและอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น 7.5% เป็น 4,384 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ ทียูจึงเตรียมนำ “บริษัท ไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ จำกัด” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะออกหุ้นไอพีโอในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของปีนี้ และจะขยายโรงงานอาหารสัตว์ที่ประเทศอินโดนีเซียในปีนี้ ด้วยเงินลงทุน 15 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังการผลิตราว 30,000 ตันต่อปี
บาทแข็งทุบส่งออกกุ้ง
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในไตรมาสที่ผ่านมาจากค่าบาทแข็งค่าเหลือ 31 บาท ทำให้ราคาส่งออกกุ้งไทยสูงกว่าคู่แข่ง ทั้งอินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม ทียูจึงหันไปเพิ่มการส่งออกกุ้งจากฐานการผลิตที่อินเดียมากขึ้น วางอนาคตว่าฐานผลิตอินเดียจะขยับจากอันดับท็อป 10 เป็นท็อป 3 ของอินเดียได้ภายใน 3 ปี
นอกจากนี้ ทียูได้รับผลกระทบจาก Brexit ทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนลง 6-7% และก่อนหน้านี้อียูตัดสิทธิพิเศษด้านภาษี (GSP) ทำให้ต้องเสียภาษีสูงขึ้น หากมีรัฐบาลใหม่ขอให้เร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับอียูทดแทนจีเอสพี ส่วนผลพวงจากสงครามการค้าอาจทำให้มีลูกค้าจะหันมาสั่งซื้อไทยหรือย้ายฐานการผลิตมายังไทยมากขึ้นเป็นปัจจัยที่รุนแรงน้อยกว่าค่าเงินบาท
โฟกัสตลาดใหม่-ในประเทศ
หลังจากนี้ทียูจะเน้นตลาดใหม่ (emerging market) โดยเฉพาะเอเชียอย่างจีน และตลาดในประเทศไทยมากขึ้น จากเดิมตลาดหลัก คือ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยทียูได้ร่วมกับอาลีบาบา เจดี ผลักดันการค้าออนไลน์ในตลาดจีน ส่วนตลาดในประเทศไทยเติบโตสูง สามารถเพิ่มสัดส่วนจาก 5% เป็น 15-20% ในช่วง 3 ปี ปีนี้จึงเตรียมซื้อหุ้นบริษัท ธรรมชาติซีฟู้ด ผู้จัดจำหน่ายอาหารทะเลเมื่อปีก่อนเพิ่มอีก 40% จากปีก่อนที่ซื้อไป 25% คาดว่าจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 3 นี้ และจะมุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานอาหารทะเลในประเทศให้มีคุณภาพเทียบเท่าส่งออก โดยซัพพลายวัตถุอาหารทะเลให้ร้านอาหารเชนใหญ่ เช่น เอ็มเค ไมเนอร์ โออิชิ เป็นต้น และขยายช่องทางจำหน่ายออนไลน์ “www.qfresh.com” ส่งตรงถึงผู้บริโภค
ทั้งหมดนี้ คาดว่ายอดขายทียูปีนี้จะขยายตัวตามเป้าหมาย 5% จากปีก่อนที่มีรายได้ 133,000 ล้านบาท และทำกำไรเบื้องต้น 15% หรือเป็น 5,000-6,000 ล้านบาทจากปีที่ผ่านมา 3,000 ล้านบาท
อัพรายได้ “โคโปรดักต์” 100 เท่า
ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมทียู กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายหลักที่จะส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าบายโปรดักต์ ให้กลายเป็นสินค้าโคโปรดักต์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อบริหารจัดการ ลดปริมาณขยะเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ ปลาทูน่า 1 ตัว เป็นเนื้อทูน่า50% และเป็นบายโปรดักต์ 50% ซึ่งเดิมส่วนนี้มักจะถูกนำไปผลิตเป็นปุ๋ยปลามีมูลค่าต่ำ กก.ละ 0.2 เหรียญสหรัฐหรืออาหารปลา กก.ละ 0.7-2 เหรียญสหรัฐ แต่หลังจากศูนย์นวัตกรรมได้เริ่มวิจัยและพัฒนาดึงคุณสมบัติพิเศษแต่ละส่วนมาพัฒนาเป็นสินค้าโคโปรดักต์ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่นเมื่อนำมาผสมเป็นส่วนผสมอาหารคนจะเพิ่มมูลค่าเป็น กก.ละ 6-20 เหรียญสหรัฐ หากพัฒนาถึงขั้นสูงสุดใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์/นมผงทารก จะมีมูลค่าสูงถึง กก.ละ 100 เหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้น 100 เท่า
ในปัจจุบันทียูสามารถผลิตโคโปรดักต์จากทูน่าได้ 130,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น น้ำนึ่งปลาจากกระบวนการผลิตปลากระป๋องมีสัดส่วน 10-12% นำไปขายเป็นน้ำสำหรับปรุงอาหาร, เนื้อสีเข้ม ผลิตได้สัดส่วน 9-8% ซึ่งเป็นส่วนที่คนไม่นิยมบริโภคแต่มีคุณค่าทางอาหารสูงจึงนำไปผลิตอาหารสัตว์ เช่นเดียวกับ เลือดปลาสัดส่วน 7% หัวส่วนกลางและเหงือก สัดส่วน 6% เหงือกที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง สัดส่วน 2% และบริเวณหางและครีบมีสัดส่วน 1.4% หนังปลา มีสัดส่วน 5% บริเวณนี้มีคอลลาเจนสูง กระดูกปลามีสัดส่วน 5% มีสารแคลเซียมช่วยให้มีความหนาแน่นของกระดูก (bone mineral density) มากกว่าแคลเซียมชนิดอื่น ทียูจึงร่วมกับพันธมิตรจากฝรั่งเศสพัฒนาจดสิทธิบัตรการนำกระดูกทูน่าเป็นส่วนผสมในทูน่ากระป๋องอยู่ระหว่างการทดสอบชุด
สุดท้ายก่อนวางตลาดเร็ว ๆ นี้ และหัวปลาสัดส่วน 5% นำมาสกัดและกลั่นเป็นน้ำมันปลาทูน่าบริสุทธิ์