ดอนเมืองโทลล์เวย์ ทุ่ม 900 ล้าน กเครื่องครั้งใหญ่ระบบเก็บค่าผ่านทางในรอบ 30 ปี เชื่อมบัตร M-PASS และ Easy Pass โครงข่ายทางด่วนและวงแหวนรอบนอก เพิ่มกล้องวงจรปิด AI 300 ตัว ป้ายอัจฉริยะรับไทยแลนด์ 4.0
นายศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจและการเงิน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือโทลล์เวย์ เปิดเผยว่า ภายใน 3 ปี (2561-2563) บริษัทวางแผนพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโทลล์เวย์ด้วยงบฯลงทุน 900 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการระบบอัจฉริยะ (Smart Project) ใช้งบฯลงทุน 300 ล้านบาท ปรับปรุงระบบเทคโนโลยีที่เริ่มเสื่อมสภาพและล้าสมัยให้ทันสมัยและรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลให้มีความปลอดภัย จัดการได้ ถูกต้องแม่นยำ เชื่อถือได้ และสามารถบริหารจัดการจราจรได้
“งบฯ 300 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนด้านงานระบบ AI และซอฟต์แวร์ 20% ลงทุนด้านอุปกรณ์ 80% ซึ่งจะรวมการซื้อของเพื่อทดแทนของเดิมที่ล้าสมัยและเสื่อมสภาพด้วย”
นายศักดิ์ดากล่าวอีกว่า สำหรับอุปกรณ์ที่จะลงทุนนั้นประกอบด้วย การจัดซื้อกล้อง CCTV อัจฉริยะที่ติดตั้งระบบ AI ไว้ด้วย จากเดิมตอนนี้อยู่ 42 ตัวที่ติดไว้ทุก ๆ 1 กม. จะติดตั้งกล้องเพิ่มอีก 300 ตัว และเพิ่มระยะการติดตั้งเป็นทุก ๆ 300-500 เมตร โดยศึกษาและออกแบบร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาของญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มติดตั้งกล้องและสามารถติดตั้งได้ครบทั้ง 300 ตัวได้ประมาณปี 2562 จากนั้นจะเริ่มทดสอบระบบ คาดว่าจะใช้ได้จริงช่วงปลายปี 2563 โดยจะเชื่อมกับศูนย์ควบคุมจราจรซึ่งบริษัทได้ดำเนินการเสร็จแล้ว
“นอกจากนี้ ยังมีแผนติดป้ายจราจรอัจฉริยะประมาณ 5-10 จุด มีคุณสมบัติสามารถบอกระยะเวลาในการเดินทางได้ เช่น จากดินแดงไปสนามบินดอนเมือง หรือสุดทางที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติจะมีบอกหมดว่าใช้เวลาเดินทางกี่นาที โดยใช้ข้อมูลจากกล้องที่มีระบบ AI ส่งไปประมวลผลที่ศูนย์ควบคุมก่อนที่จะส่งผ่านสายใยแก้วนำแสง (fiber optic) ขึ้นแสดงที่ป้ายจราจร ส่วนข้อความอื่น ๆ เช่น รายงานสภาพจราจรก็มีปกติ ส่วนการตรวจจับความเร็วสามารถตรวจจับในระยะ 200 เมตร”
2.การจัดซื้อระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบใหม่ เพื่อทดแทนการใช้ระบบเดิม ใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาท เพราะของเดิมใช้มาเกือบ 30 ปีแล้ว และต้องเปลี่ยนตามวงรอบ
3.ปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าผ่านทางให้รองรับบัตร M-PASS และ Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง (ทล.) ใช้งบฯลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยเป็นการทำระบบหลังบ้านและติดเซ็นเซอร์เพื่อรองรับบัตร ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบในรายละเอียด การจะเชื่อมกับทั้งสองระบบได้นั้นจะต้องจัดซื้อระบบเก็บค่าผ่านทางใหม่ก่อน หลังจากนั้น ก็ขอรัฐบาลให้ความเห็นชอบในการเชื่อมต่อระบบ ส่วนการแบ่งรายได้กำลังศึกษาโมเดลจาก กทพ.และ ทล.ว่าบริหารจัดการร่วมกันอย่างไร และ 4.ปรับปรุงสภาพกายภาพบนดอนเมืองโทลล์เวย์ ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท
นายศักดิ์ดากล่าวต่อว่า สำหรับสถิติปริมาณจราจรที่ใช้บริการบนดอนเมืองโทลล์เวย์ พบว่าในปี 2561 นี้มีปริมาณผู้ใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 คน/วัน เติบโตจากปีที่แล้ว 2-3% เป็นการเติบโตตามปริมาณจราจรปกติ ขณะที่รายได้รวมปีที่แล้วอยู่ที่ 3,033 ล้านบาท ส่วนปีนี้ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอยอดรวมของเดือน ธ.ค.ก่อน แต่คาดว่าจะเติบโตกว่าปีที่แล้วประมาณ 2% และรายได้หลักยังมาจากการเก็บค่าผ่านทางอย่างเดียว
ขณะที่สถิติอุบัติเหตุปี 2561 เกิดอุบัติเหตุบนดอนเมืองโทลล์เวย์ 200 ครั้ง เกินครึ่งเป็นอุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น รถชนท้ายกันในช่วงรถติด และยังไม่มีอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตแต่อย่างใด