หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม รัฐสะกิดแบงก์ชะลอขึ้นดอกกู้ BBLรุกถกสมาคมธนาคาร

รัฐสะกิดแบงก์ชะลอขึ้นดอกกู้ BBLรุกถกสมาคมธนาคาร

1950
0
แบงก์กรุงเทพนัดถกสมาคมธนาคารไทยต้นปีหน้า หารือจังหวะขยับขึ้นดอกเบี้ยกู้-ฝาก วงในเผยรัฐสะกิดแบงก์เบรกขึ้นดอกเบี้ยกู้ หลัง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หวั่นกระทบรากหญ้า-เอสเอ็มอีซีไอเอ็มบีที “ออมสิน” เล่นบทผู้นำขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำยกแผง ฟาก ธอส.ประกาศตรึงดอกเบี้ยบ้านหลัง “ตรุษจีน”

BBL นัดถกสมาคมแบงก์

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% แล้วนั้น สำหรับธนาคารคิดว่าอาจจะเร็วไปที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามทันที และต้องปรึกษาหารือกับสมาคมธนาคารไทยก่อน ทั้งเรื่องจะขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้หรือไม่ หรือจังหวะการขึ้น ซึ่งคาดว่าจะหารือกันภายในช่วงต้นปีหน้า

“ธนาคารจะไม่เป็นผู้นำในการขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะต้องดูตามที่ปรึกษากับทางสมาคมธนาคารไทยก่อน โดยอนาคตหากดอกเบี้ยธนาคารปรับขึ้นจะไม่ได้กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากอาจเป็นการปรับขึ้น 0.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่มาก”

การที่ดอกเบี้ยไม่ได้ปรับขึ้นมานานสะท้อนว่าเศรษฐกิจไม่ได้หวือหวาและยังอยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้แม้ว่าจะไม่ได้ขึ้นมา 7 ปี ก็ไม่น่ากังวล เพราะสภาพคล่องในไทยยังเยอะอยู่” นายเดชากล่าว

สำหรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการนั้น ให้มองนอกเหนือจากเรื่องดอกเบี้ย แต่ควรดูเรื่องเศรษฐกิจโลกปีหน้าที่จะกระทบกับไทยอยู่พอสมควร เนื่องจากเศรษฐกิจไทยก็จะเป็นไปตามทิศทางของเศรษฐกิจอเมริกา ซึ่งถ้าเศรษฐกิจอเมริกาไม่ดี เศรษฐกิจไทยก็ไม่ดีด้วย เพราะไทยพึ่งการส่งออกไปอเมริกามาก นอกจากปัจจัยนอกประเทศแล้ว ปัจจัยในประเทศก็มีเรื่องของสภาพอากาศที่ไม่ดี ทำให้ส่งผลต่อพืชผลทางการเกษตรหลายอย่าง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ

นายเดชากล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องมองว่าความสำคัญของประเทศไทยอยู่ตรงไหน ไม่ใช่มุ่งเน้นทำอุตสาหกรรมอย่างเดียว เพราะคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตร โดยไทยถือเป็นประเทศเกษตรกร และปัญหาของไทยคือระบบชลประทานไม่ดี ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ โดยโครงการภาครัฐปีหน้าก็อาจมีบางส่วนที่แก้ไขได้ แต่ไม่ทั้งหมด

รัฐดึงเกมแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยกู้

แหล่งข่าวในวงการธนาคารพาณิชย์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ครั้งนี้ การส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์อาจแตกต่างไปจากปกติ เนื่องจากปกติหลัง กนง.ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายราว 1 สัปดาห์ธนาคารพาณิชย์จะมีการทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยตาม แต่ครั้งนี้มีการส่งสัญญาณจากภาครัฐว่าต้องการให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ระยะหนึ่งก่อน เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นรายย่อยและเอสเอ็มอีที่ยังมีปัญหา จนอาจทำให้เกิดเป็นปัญหาหนี้เสียต่อไปในอนาคต ขณะที่สภาพคล่องในตลาดยังมีอยู่ค่อนข้างมาก ประกอบกับช่วงต้นปีไม่ใช่เป็นฤดูของการขอสินเชื่อของภาคธุรกิจ ดังนั้นแบงก์จึงอาจยังสามารถชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ออกไปได้อีกสักระยะ

ขณะเดียวกันจะเห็นสัญญาณชัดจากกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐที่นอกจากออกมายืนยันว่า จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้แล้ว ในส่วนของธนาคารออมสินยังประกาศเป็นผู้นำการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำด้วย

ขณะเดียวกันจะเห็นสัญญาณชัดจากกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐที่นอกจากออกมายืนยันว่า จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้แล้ว ในส่วนของธนาคารออมสินยังประกาศเป็นผู้นำการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำด้วย

ตรึงดอกเบี้ยบ้านหลังตรุษจีน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ธอส. ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้เท่าเดิม แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% แล้วก็ตาม ทั้งนี้เพื่อบรรเทาภาระแก่ประชาชนที่ผ่อนบ้าน โดยหลังจากนี้จะรอดูสถานการณ์ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดจนถึงหลังเทศกาลตรุษจีน

“เรารอหลังเทศกาลตรุษจีน โดยขอดูทิศทางตลาดก่อน ว่าแบงก์อื่น ๆ จะปรับอย่างไรบ้าง หากจำเป็นต้องปรับก็จะปรับแค่ 0.125% แต่ยืนยันว่า จะปรับขึ้นเป็นคนสุดท้ายแน่นอน” นายฉัตรชัยกล่าว

ธ.ก.ส.อุ้มเกษตรกร

ขณะที่นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในขณะนี้ โดยปัจจุบันธนาคารก็มีดอกเบี้ยอัตราพิเศษที่ชดเชยให้กับเกษตรกรอยู่แล้วในหลายโครงการ ดังนั้นแม้ว่าระยะข้างหน้าหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR (ปัจจุบัน 5% ต่อปี) กับ MRR (ปัจจุบัน 7% ต่อปี) แต่รัฐบาลก็ยังคงชดเชยโครงการเหล่านั้นอยู่ ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับไว้แล้ว

“ดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นมา 0.25% ตอนนี้เรายังรับมือไหว ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยให้กระทบเกษตรกรแน่นอน”

CIMB อั้นดอกเบี้ยกู้ถึง เม.ย.

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า หลังจาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ย ในส่วนของธนาคารเองเป็นไปได้ว่าจะขยับขึ้นหลังเดือน เม.ย. เนื่องจากรอดูผลมาตรการสินเชื่อบ้านที่เริ่มบังคับใช้ 1 เม.ย. 62 ก่อนว่าจะมีผลอย่างไร ทั้งรอดูสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์หลังเลือกตั้ง ประกอบกับสภาพคล่องในตลาดยังมีอยู่มาก และสินเชื่อของธนาคารก็ไม่ได้ขยายตัวแรง

“นอกจากการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารพาณิชย์ ก็คือทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าขยับหนึ่งครั้งแล้วหยุดก็คงไม่ได้มีผลต่อต้นทุนทางการเงิน และต้องดูต่อว่าขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่”

“เกษตร-เอสเอ็มอี” รับภาระหนัก

นายอมรเทพกล่าวว่า สำหรับภาคที่น่าห่วงมากที่สุด ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นคือกลุ่มรากหญ้า ทั้งภาคเกษตร หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มที่รายได้เติบโตไม่ทันรายจ่าย เพราะรายได้ภาคเกษตรผันผวนมาก และปีหน้าคาดว่าราคาสินค้าเกษตรจะอยู่ในระดับที่ต่ำ

ออมสินนำทีมขึ้นดอกฝาก

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในครั้งนี้อาจไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากทันที เนื่องจากสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินไทยยังสูง

“ออมสินในฐานะที่เป็นธนาคารของรัฐ เราไม่ได้เป็นผู้นำในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เราจะเป็นธนาคารสุดท้ายที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ แต่เราก็ต้องดูภาวะทางการตลาดด้วยว่าเป็นอย่างไร”

นายชาติชายกล่าวต่อว่า ธนาคารให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน และ 36 เดือน ในอัตรา 0.25% ต่อปี สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2561 เป็นต้นไป

“ยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบธนาคาร โดยเฉพาะลูกค้าสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน หรือสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยและฐานราก จะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่อย่างใด”

KTB ไม่ขึ้นดอกเบี้ยฝาก-กู้

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในส่วนของธนาคารกรุงไทยจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยทั้งในส่วนดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ในขณะนี้ โดยในช่วงต้นปีจะมีการพิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังตระหนักว่า ผู้ประกอบการธุรกิจมีภาระอื่นที่ต้องรับมือ นอกเหนือจากภาระดอกเบี้ยด้วย และไม่อยากเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ จึงตัดสินใจประคองอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันได้

ข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ