หน้าแรก ข่าวอุตสาหกรรม ประมูล EEC 6.5แสนล้านฝุ่นตลบ ‘ซีพี-BTS-CPN’ สู้ทุกโปรเจ็กต์

ประมูล EEC 6.5แสนล้านฝุ่นตลบ ‘ซีพี-BTS-CPN’ สู้ทุกโปรเจ็กต์

2394
0

5 โปรเจ็กต์อีอีซี 6.5 แสนล้านคึก บิ๊กไทย จีน ญี่ปุ่น ยุโรป 32 รายรุมชิงท่าเรือแหลมฉบัง “ซี.พี.-ปตท.” ไม่ตกขบวน มาบตาพุดมี 10 รายร่วม “เซ็นทรัล-แกรนด์แอสเสท-บีทีเอส-ซิโนไทย-ITD-บางกอกแอร์เวย์ส” แจมเมืองการบินอู่ตะเภา ต่อยอดรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เคาะซองเทคนิค 11 ธ.ค.นี้ 

ผู้รับเหมาจับตาการเปิดประมูลในอีอีซี
แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้วงการผู้รับเหมากำลังจับตาดูผลการเปิดประมูลโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) 5 โครงการ มูลค่าการลงทุน 652,559 ล้านบาทที่กำลังเปิดประมูล PPP ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน คาดว่าจะมีบริษัทรายใหญ่เข้าร่วมประมูล เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่เงินลงทุนสูง และแต่ละโครงการใช้เวลาสร้าง 4-5 ปี และใช้เวลาบริหารโครงการ 30-50 ปี

“การพัฒนาอีอีซีและการสร้างโครงการใหญ่ ๆ ต้องพึ่งบริษัทใหญ่มาลงทุนถึงจะเกิด ตอนนี้รอลุ้นผลประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กลุ่ม ซี.พี.กับบีทีเอสยื่นข้อเสนอ ล่าสุด ทั้ง 2 กลุ่มสนใจซื้อซองประมูลสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกด้วย เพราะเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งบริเวณใต้ดินอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 จะมีสถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา ขณะที่ ซี.พี.ได้ซื้อซองประมูลท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 อีกโครงการหนึ่ง เพื่อต่อยอดกับธุรกิจภาคตะวันออกที่กลุ่ม ซี.พี.มีการลงทุนจำนวนมาก”

เปิดซองด่านแรก ซี.พี.-บีทีเอสผ่านฉลุย

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ผลการเปิดซองคุณสมบัติทั่วไปของกิจการร่วมค้า BSR (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชบุรีโฮลดิ้ง) และกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ที่ยื่นซองประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา 224,544 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาทั้ง 2 กลุ่ม

ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค ประกอบด้วย 1.โครงสร้างองค์กรและความสามารถของบุคลากรในการบริหารงาน 2.งานโยธา 3.งานระบบเครื่องกล ไฟฟ้าและขบวนรถไฟ 4.การให้บริการเดินรถบำรุงรักษา 5.การถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมการฝึกอบรม 6.การพัฒนาพื้นที่สนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ จะทราบผลผู้ผ่านเทคนิค 11 ธ.ค. 2561 จากนั้น 12-17 ธ.ค. จะเปิดซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการเงิน คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกลางเดือน ม.ค. เซ็นสัญญา 31 ม.ค. 2562

ทุนไทย-เทศแห่ชิง 2 ท่าเรือ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลซื้อซองประมูลท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ปิดขายซอง 19 พ.ย.ที่ผ่านมา มีบริษัทไทยและต่างชาติสนใจ 32 ราย จากประเทศไทย 17 ราย ได้แก่ บจ.ที ไอ พี เอส, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บจ.แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล, บมจ.เจดับเบิลยูดี อินโฟโลจิสติกส์, บจ.ซีเอชอีซี (ไทย), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์,

บจ.ซี.พี.โฮลดิ้งส์ คัมปะนี (ซี.พี.), บจ.สุมิโตโม คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย), บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล(ปตท.), บจ.ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล,บจ.บางกอก โมเดิร์น เทอร์มินอล, บจ.พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง, บจ.แอสโซซิเอท อินฟินิตี้, บจ.บีเอ็มที แปซิฟิค, บจ.เมดิเตอร์เรเนียน ชิปปิ้ง (ประเทศไทย), บจ.ซี.อาร์.ซี. การท่าเรือ และบมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง

ท็อปไฟฟ์ญี่ปุ่น-จีน-ยุโรปมาครบ 

ญี่ปุ่น 3 ราย มี บจ.อิโตชู คอร์ปอเรชั่น, บจ.ฟูชิตะ คอร์ปอเรชั่น และ บจ.มิตซุย จีน 4 ราย บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชั่น, บจ.Shekou Container Terminals และบจ.ไชน่า คอมมิวนิเคชั่น คอนสตรักชั่น จากฮ่องกง 1 ราย คือ บจ.China Merchants Port จากฟิลิปปินส์ 1 ราย บจ.International Container Terminal สิงคโปร์มี 1 ราย บจ.PSA Internatina

เนเธอร์แลนด์ 2 ราย บจ.APM Terminal B.V. และ บจ.Boskails International B.V. อินเดีย 1 ราย บจ.Adani Port & Special Economic Zone สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย คือ บจ.Terminal Investment Limited Sarl เบลเยียม 1 ราย บจ.Dredging International NV โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะเปิดยื่นซอง 14 ม.ค. และรู้ผลผู้ชนะในเดือน ก.พ. 2562

ส่วนท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงิน 55,400 ล้านบาท การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะปิดขายทีโออาร์ 21 พ.ย. 2561 มีนักลงทุนไทยและต่างชาติในเอเชียสนใจกว่า 10 ราย ส่วนรายชื่อ กนอ.ขอไม่เปิดเผย จะเปิดให้ยื่นซอง 6 ก.พ. 2562

บิ๊กธุรกิจแห่ซื้อ TOR อู่ตะเภา 

ส่วนการซื้อซองประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก 6,500 ไร่ มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ช่วง 16-20 พ.ย. 2561 ที่กองทัพเรือเปิดให้เอกชนมาซื้อซองในราคา 1 ล้านบาท กองทัพเรือจะเปิดเผยรายชื่อวันที่ 29-30 พ.ย.นี้

โดยมีเอกชนซื้อซองประมูล 8 ราย ได้แก่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง, บมจ.อิตาเลียนไทยฯ, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น, บจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งฯ,บมจ.บี.กริม เพาเวอร์, บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ และ บจ.เอ็มไพร์ เอเซีย กรุ๊ป และคาดว่า บมจ.ช.การช่างและซีพีจะมาซื้อซองด้วย

“BTS-ชายนิด-BA” ร่วมวงแน่

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส รวมทั้งนายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เปิดเผยว่า บมจ.แกรนด์ บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้ ที่เพอร์เฟคเข้าไปถือหุ้นด้วย ทั้ง2 รายสนใจซื้อซองประมูลสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน เพื่อต่อยอดธุรกิจ

โดยกลุ่มของนายชายนิด ต้องการพัฒนาที่ดินกว่า 100 ไร่ ติดชายหาดแม่พิมพ์ ใกล้สนามบินอู่ตะเภา เป็นโครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 5,700 ล้านบาท มี โรงแรม 5 ดาว 200 ห้อง พูลวิลล่า 50 ยูนิต ขายยูนิตละ 30-50 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมจะเปิดตัวภายในปี 2562